In News

โชว์ยอดใช้รถอีวีเติบโต7เดือนแรกปี'65 กว่า2หมื่นคันชี้นักลงทุนสนใจผลิตรถอีวี



กรุงเทพฯ-"ทิพานัน" โชว์ยอดใช้รถอีวีเติบโต7เดือนแรก ปี 65 กว่า2หมื่นคัน ชี้ "พล.อ.ประยุทธ์" นำไทยเป็นฐานการผลิตรถอีวีใหญ่ในภูมิภาคได้แน่นอน หลังผู้ผลิตรถอีวีสนใจเข้าร่วมมาตรการส่งเสริมลงทุนเพียบ เกิดการจ้างงานขับเคลื่อนเศรษฐกิจครั้งใหญ่

วันที่ 28 ตุลาคม 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากแผนพลังงานแห่งชาติที่กำหนดกรอบให้ไทยมียานยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี ที่ใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด โดยตั้งเป้าให้ ปี 2030 ต้องมีการใช้รถอีวีเพิ่มมากกว่า 50% เพื่อให้ปี 2040 สามารถทดแทนยานยนต์ที่ใช้น้ำมันได้ 100% ในกลุ่มรถใหม่ ซึ่งจะช่วยให้ไทยสามารถลดการใช้พลังงานน้ำมัน และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการเกิดฝุ่น pm 2.5 ด้วย  โดยรัฐบาลได้ออกมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถอีวีอย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นเงินอุดหนุนรถยนต์ และรถกระบะคันละ 70,000-150,000 บาทต่อคัน และรถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 % เป็น 2 % และรถกระบะเป็น 0 % ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศ และนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40 % สำหรับรถยนต์ ถึงปี 2566 และยกเว้นอากรขาเข้าส่วนประกอบรถยนต์อีวี จำนวน 9 รายการ เพื่อนำมาผลิตหรือประกอบอีวีในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ ส่งผลให้แนวโน้มการใช้รถอีวีของไทยเพิ่มสูงขึ้น

"ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมการขนส่งทางบก พบว่า ในปี 2565 ณ วันที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 ประเทศไทยมีปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสม รวมทั้งสิ้น 20,087 คัน ได้แก่ 1. รถยนต์ไฟฟ้า 7,747 คัน 2. รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 11,637 คัน 3. รถสามล้อไฟฟ้า 398 คัน 4. รถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้า 305 คัน เปรียบเทียบกับข้อมูล ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 มีปริมาณการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าสะสมเพียง 11,382 คัน โดยเป็น 1.รถยนต์ไฟฟ้า 4,132 คัน 2.รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า 6,749 คัน 3.รถสามล้อไฟฟ้า 263 คัน และ4.รถบัสและรถบรรทุกไฟฟ้า 238 คัน จะเห็นได้ว่า มีการเติบโตที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว เชื่อว่าก่อนถึงสิ้นปีจะมียอดใช้รถอีวีเพิ่มขึ้น" น.ส. ทิพานัน กล่าว

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า จากจำนวนยอดที่เติบโต และความพร้อมที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางไว้ ในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตและการใช้งานรถอีวี  รวมถึงมีมาตรการรัฐที่ผลักดันอุตสาหกรรมรถอีวี  สนับสนุนการผลิตรถยนต์อีวีในไทยเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุน  เช่น  GWM, Toyota, MG, Green filter, EA (Mine mobility), Deco, H Sem, BYD  ที่ได้ลงนามกับกรมสรรพสามิตแล้วเพื่อสมัครเข้าร่วมมาตรการสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของไทย และยังมีผู้ผลิตที่สนใจอีกกว่า 5 รายใหญ่ ซึ่งตรงนี้จะยิ่งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเชื่อมั่นว่าไทยจะเป็นฐานผลิตรถอีวีใหญ่ในภูมิภาคได้แน่นอน  ซึ่งส่งผลดีกับพี่น้องประชาชนโดยรวม ทำให้เกิดการจ้างงานครั้งใหญ่ มีเม็ดเงินมหาศาลถึงมือประชาชนและต่อยอดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมั่นคง