In News

'ประวิตร'ปลื้มผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น ย้ำเฝ้าระวังของเสีย-สารพิษ-ขยะพลาสติก



กรุงเทพฯ-พลเอก ประวิตรฯ พอใจผลคุณภาพสิ่งแวดล้อมโดยรวมดีขึ้น ย้ำยังต้องติดตามเฝ้าระวังของเสีย สารพิษและขยะพลาสติก ทำความเข้าใจและขับเคลื่อนแผน มุ่งรูปธรรมผลสัมฤทธิ์

วันนี้ (28 พฤศจิกายน 2565) เวลา 10.30 น. พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ครั้งที่ 5 / 65  ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี รมว.ทส ปล.ทส.และ ปล.กห.ร่วมประชุม ณ มูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อฯ

ที่ประชุมรับทราบ รายงานภาพรวมสถานการณ์คุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 65 ดีขึ้น โดยมีพื้นที่เพาะปลูกเกษตรอินทรีย์เพิ่มขึ้น ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมงเพิ่มขึ้น และการใช้พลังงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น สถานการณ์ที่ควรติดตามเฝ้าระวัง เช่น ปริมาณการนำเข้าปุ๋ยเคมีและวัตถุอันตรายทางการเกษตร ปริมาณขยะพลาสติก ของเสียอันตราย มูลฝอยติดเชื้อเพิ่มขึ้น และธรณีภัยพิบัติเพิ่มขึ้น  พร้อมทั้งรับทราบผลการดำเนินงานบริหารจัดการเขตควบคุมมลพิษ ตามแผนการปฏิรูปประเทศ พบว่า เขตควบคุมมลพิษ 18 พื้นที่ ใน 13 จว. ไม่มีพื้นที่ใด มีความพร้อมในการยกเลิกเขตควบคุมมลพิษในปี 2565โดยมีพื้นที่หมู่เกาะพีพี จว.กระบี่ เป็นที่เดียวที่มีความพร้อมยกเลิกในระยะไม่เกิน 3 ปี ทั้งนี้ ต.หน้าพระลาน จว.สระบุรี และ จว.ระยอง ยังอยู่ในสถานะมีความพร้อมน้อย ปัญหาภาพรวมจากข้อจำกัดงบประมาณ รวมทั้งการกำกับดูแลไม่ทั่วถึงและเข้มงวดพอ 

ต่อจากนั้น ได้ร่วมพิจารณาและให้ความเห็นชอบ ด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ( EIA ) ที่สำคัญ ได้แก่ โครงการพัฒนาเพิ่มขีดความสามารถท่าอากาศยานดอนเมือง โครงการโรงไฟฟ้าพระนครใต้ (ส่วนเพิ่ม) สมุทรปราการ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปาด จว.อุตรดิตถ์ และโครงการก่อสร้างทางเลี่ยงเมือง จว.อ่างทอง และเห็นชอบ แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ปี 66-70  แผนปฎิบัติการด้านการจัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 2 ปี 66-70 แผนเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละอองปี 66  นโยบายกำกับการนำเข้าเศษพลาสติก แผนปฏิบัติการเพื่อจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อมในระดับจังหวัด ปี 67  โครงการพัฒนาศักยภาพสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมจังหวัด  รวมทั้งการกำหนดอัตราค่าบริการกำจัดขยะมูลฝอย ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 14 แห่ง ที่ได้รับการจัดสรรเงินกองทุนสิ่งแวดล้อม

พลเอก ประวิตรฯ ได้ขอบคุณ ทส.ที่ให้ความสำคัญรขับเคลื่อนงานด้านสิ่งแวดล้อมต่อเนื่องมา มีผลสถานการณ์ภาพรวมคุณภาพสิ่งแวดล้อมดีขึ้น อย่างไรก็ตามขอให้ ทส.ยังคงติดตามสถานการณ์ที่ควรติดตามเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด  พร้อมทั้ง ร่วมกำกับและเข้มงวด การบริหารจัดการเขตควบคุมมลพิษให้เป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศ  โดยขอให้ทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมขับเคลื่อนแผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านความเห็นชอบ ให้เป็นรูปธรรมโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์  ควบคู่กับการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชนท้องถิ่นไปพร้อมกัน