In Bangkok

กทม.จัดเสวนาเดินหน้าภารกิจพร้อมรับมือ ฝุ่นละอองPM2.5



กรุงเทพฯ-วันที่ (29 พ.ย. 2565) ดร.นพ. สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดงานเสวนา “ภารกิจ กทม. กับการรับมือฝุ่น PM2.5” โดยมีผู้แทนจากโรงพยาบาลในสังกัดสำนักการแพทย์ ผู้แทนสำนักงานเขต ผู้แทนศูนย์บริการสาธารณสุข ผู้แทนชุมชน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร ในพื้นที่เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย เขตสัมพันธวงศ์ เขตพระนคร และเขตปทุมวัน ร่วมงาน ณ ห้องประชุมเทเวศวิวัฒน์ ชั้น 20 อาคารอนุสรณ์ 100 ปี โรงพยาบาลกลาง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย

รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่มีแนวโน้มเกิดภาวะวิกฤตในช่วงเดือนธันวาคมต่อเนื่องถึงกุมภาพันธ์ของทุกปี เนื่องจากเป็นช่วงเวลาที่สภาพอากาศปิด เกิดการสะสมของฝุ่น PM2.5 อย่างต่อเนื่อง ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้ดำเนินการต่าง ๆ ทั้งการเปิดคลินิกมลพิษทางอากาศในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ด้วยการให้คำปรึกษา ส่งต่อความรู้ และแนวทางการป้องกันตัวเองไปถึงประชาชน ซึ่งการแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 เป็นไปตามนโยบาย 216 ข้อ ด้านสิ่งแวดล้อม ของท่านผู้ว่าฯ และเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ซึ่งการจัดงานเสวนาในวันนี้ผู้ร่วมงานจะได้รับความรู้ PM2.5 คืออะไร เกิดได้อย่างไร มีผลต่อสุขภาพอย่างไร และจะจัดการอย่างไร ซึ่งนอกจากการจราจรที่คับคั่งแล้ว การเกิดไฟไหม้หรือการเผาในภาคการเกษตรจากจังหวัดรอบนอกส่งผลให้ PM2.5 มีค่าเกินมาตรฐาน รวมถึงไฟไหม้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ซึ่งเป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ ฝุ่น PM2.5 ที่มีขนาดเล็กมาก เมื่อผ่านเข้าสู่ปอด และถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิต เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด และหากรวมกับเชื้อไวรัส จะทำให้ปอดติดเชื้อได้ กรุงเทพมหานคร มีความตั้งใจอย่างยิ่งที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว นอกจากการจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครภายใต้แผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ทั้งยังประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ ความเข้าใจ และการปฏิบัติตนในสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันป้องกัน และแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ได้อย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับการเสวนา "ภารกิจ กทม. กับการรับมือฝุ่น PM2.5" วัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนรับรู้และเข้าใจนโยบาย การดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร ลดความไม่พอใจต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น ตลอดจนให้การสนับสนุนและมี ส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ของกรุงเทพมหานคร เกิดการสื่อสารสองทางระหว่างกรุงเทพมหานครกับประชาชน เป็นการเสริมสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ชัดเจนและตรงตามเป้าหมาย รวมทั้งเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี อันก่อให้เกิดทัศนคติเชิงบวกต่อแนวนโยบายการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ของกรุงเทพมหานคร 

ทั้งนี้ หัวข้อการเสวนา ประกอบด้วยเรื่อง ที่มาของฝุ่น PM 2.5 และปัญหาในกทม. การตรวจวัดค่าฝุ่น PM 2.5 ดัชนีคุณภาพอากาศ และช่องทางการประชาสัมพันธ์แจ้งค่าฝุ่น PM 2.5 แก่ประชาชน  แผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหา และมาตรการป้องกัน และลดฝุ่น PM2.5 ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะสั้น และระยะยาว  อาการและโรค รวมถึงแผนรับมือด้านสุขภาพกับปัญหา PM 2.5  แนวทางการดำเนินงานด้านสุขภาพของโรงพยาบาลในพื้นที่มีปัญหาฝุ่น PM 2.5  การดำเนินงานของคลินิกมลพิษในพื้นที่และนอกพื้นที่กรุงเทพฯ  แผนการรับมือและแนวทางการป้องกันสุขภาพจากฝุ่นละออง PM 2.5 และการแสดงความเห็นต่อการเปลี่ยนค่ามาตรฐานฝุ่นละออง PM2.5 ตามกฎหมายประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เรื่อง กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไป กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไปค่าเฉลี่ยในเวลา 24 ชั่วโมง จะต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ปรับเป็นไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2566

ผู้ร่วมการเสวนา ประกอบด้วย ดร.พญ.เลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์  นางสาววรนุช  สวยค้าข้าว รองผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม  พญ.คัชรินทร์ เจียมศรีพงษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลกลาง  ดร.พงษ์จักรินทร์  ถาวรพงษ์ ผู้อำนวยการเขตป้อมปราบศัตรูพ่าย  นพ.ณรงฤทธิ์  กิตติกวิน ผู้อำนวยการศูนย์บริการสาธารณสุข 15 ลาดพร้าว สำนักอนามัย  และนพ. ศุภกร  ตุลย์ไตรรัตน์ โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี