In Bangkok

ติดตามแนวทางแก้ร่างข้อบัญญัติอปพร. สร้างขวัญกำลังใจให้กับอปพร.



กรุงเทพฯ-นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่ได้เชิญผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์) เข้าหารือเพื่อสอบถามรายละเอียดสวัสดิการ ค่าตอบแทนของเจ้าหน้าที่ในปัจจุบันและความคืบหน้าการแก้ไขข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2552 เพื่อสนับสนุนงานและเป็นสวัสดิการของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ในสังกัดกรุงเทพมหานคร ให้สอดคล้องกับอปพร.องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่ใช้ระเบียบของกระทรวงมหาดไทย ซึ่งการเบิกค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน ในปัจจุบันมีอัตราค่าใช้จ่ายที่กำหนดไว้ 2 ประเภท ดังนี้

1.ค่าตอบแทนอปพร. เฉพาะผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์วิทยุ อปพร. เขต หรือ ศูนย์ อปพร. กทม. กำหนดอัตรา 200 บาท/คน/ผลัด
2.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของอปพร. ศูนย์ อปพร. กทม. โดยเบิกจ่ายได้ไม่เกิน 5,000 บาท/ศูนย์/เดือน

สำหรับร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการสนับสนุนกิจการอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. ... ฉบับใหม่ จะอ้างอิงให้สอดคล้องกับระเบียบคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2560 ในประเด็น 
1.ค่าตอบแทน อปพร. เฉพาะผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์วิทยุ ซึ่งนำข้อบัญญัติมาจากกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2552
2.ค่าป่วยการชดเชย หรือเวลาที่เสียไปเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือการรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามกฎหมาย ซึ่งนำมาจากระเบียบป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติว่าด้วยค่าใช้จ่ายของอาสาสมัครในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2560
3.ค่าชุดรวมทั้งส่วนประกอบของชุด อปพร.
4.ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการดำเนินกิจกรรมของอปพร.

5. เงินรางวัลเพื่อมอบให้แก่ศูนย์อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนเขตในกรุงเทพมหานครที่มีผลการปฏิบัติงานดีเด่นในรอบปี จำนวน 20,000 บาท/ศูนย์/ปี จำนวน 3 ศูนย์ 
“ทั้งนี้ ได้ให้ข้อแนะนำเพิ่มเติมด้านการเข้าช่วยเหลือประชาชน กรณีเกิดสาธารณภัยว่า เพื่อให้การดำเนินการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ควรมีการจัดตั้งฝ่ายป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเพิ่มเติมของแต่ละเขต เพื่อที่จะสามารถมีศูนย์ดับเพลิงย่อยเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในเขตที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่มาก เช่น ลาดกระบังและมีนบุรี เพื่อให้สามารถเข้าถึงชุมชนและให้ความช่วยเหลือประชาชนในยามเกิดเหตุฉุกเฉินได้ทันตามเวลา” ประธานสภากทม. กล่าว