In Global
'สี จิ้นผิง'กับการหลอมรวมภูมิปัญญาจีน ในโลกสมัยใหม่
ในช่วงที่นายสีจิ้นผิงประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้เข้าร่วมการประชุมเอเปคในช่วงวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมานั้น ได้สร้างความปลาบปลื้มยินดีกับชาวไทยเชื้อสายจีน, นักศึกษาและประชาชนชาวจีนที่อยู่ในประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะเป็นครั้งแรกที่สีจิ้นผิงมาเยือนประเทศไทยในตำแหน่งประธานาธิบดี โดยก่อนหน้านี้สีจิ้นผิงได้มาเยือนประเทศไทยในปี พ.ศ. 2554 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองประธานาธิบดี
การที่จีนก้าวขึ้นเป็นประเทศมหาอำนาจได้อย่างรวดเร็ว มีการเมืองที่มั่นคง เศรษฐกิจที่มั่งคั่ง และเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยในช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปี ก็เป็นเรื่องที่น่าจับตามองมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลากว่า 2 วาระในการดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดของจีนของสีจิ้นผิงนั้น จีนได้สร้างความแข็งแกร่งในประเทศของตนเอง และสร้างความสัมพันธ์ต่อประชาคมโลกผ่านนโยบายเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจ อย่างข้อริเริ่มแถบและเส้นทางเป็นต้น
ด้วยเหตุผลดังที่กล่าวมานี้ แนวคิดของสีจิ้นผิงจึงเป็นสิ่งที่นักวิชาการจำนวนไม่น้อยเริ่มหยิบยกมาวิเคราะห์เพื่อศึกษาถึงแนวคิดและวิธีการทำงานว่ายืนฐานของปรัชญาใด ก็พบว่าสีจิ้นผิงมีการใช้คำกล่าวของปราชญ์, กวี ตลอดจนหนังสืออันเป็นภูมิปัญญาจีนโบราณมาปรับใช้เข้ากับโลกสมัยใหม่ได้อย่างดี ส่วนหนึ่งเพราะภูมิปัญญาโบราณนั้นเป็นความรู้รวบยอดที่ตกผลึกจากประสบการณ์จริง อีกส่วนหนึ่งเพราะไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ธรรมชาติของมนุษย์และสังคมก็ยังคงมีธรรมชาติที่ไม่ต่างกันมากนัก
ครั้งหนึ่ง สีจิ้นผิงได้รับแรงบันดาลใจจากกวีของเจิ้งป่านเฉียว กวีสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งได้ยินเสียงลมพัดต้นไผ่กระทบกัน แล้วคิดถึงเสียงโอดครวญของประชาชนที่ทุกข์ร้อน แม้ตำแหน่งนายอำเภอจะเป็นตำแหน่งเล็กๆ แต่ทุกเรื่องของประชาชนล้วนเชื่อมโยงกับความรู้สึกของกวีเจิ้งป่านเฉียว โดยสีจิ้นผิงได้กล่าวคำพูดที่สั้นๆแต่ครอบคลุมหลักการทำงานทั้งหมดของพรรคคอมมิวนิสต์จีนไว้ว่า “一切为了人民,为了人民的一切” ซึ่งแปลว่า “ทั้งหมดเพื่อประชาชน เพื่อทุกอย่างของประชาชน” ทั้งนี้ในคัมภีร์หลี่จี้(礼记) ซึ่งเป็นคัมภีร์โบราณเองก็กล่าวไว้ว่า “天下为公行大道” ซึ่งแปลว่า “เมื่อปกครองด้วยหลักธรรมอันยิ่งใหญ่แล้ว ใต้หล้าจึงเป็นของประชาชน”
จึงกล่าวได้ว่าแม้จีนจะมุ่งมั่นเข้าสู่การเป็นที่หนึ่งในทุกด้านของโลกสมัยใหม่ แต่จีนเองก็ไม่เคยทิ้งรากฐานภูมิปัญญาของปราชญ์ทั้งหลายในอดีต อีกทั้งยังนำกลับมาตอกย้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมโยงอดีตเข้ากับปัจจุบันอีกด้วย
อีกเรื่องที่น่าสนใจคือ สีจิ้นผิงได้นำหลักปรัชญาซานไฉ (三才) ที่กล่าวถึงเรื่องความสัมพันธ์ของฟ้า ดิน คน เอาไว้ว่ามีความพึ่งพาอาศัยเกื้อกูลซึ่งกันและกันอย่างไรในตอนหนึ่งของการกล่าวถึงระบบนิเวศไว้ว่า “ระบบนิเวศที่ดีจะนำไปสู่อารยธรรมที่เจริญ ส่วนระบบนิเวศที่แย่จะนำไปสู่อารยธรรมที่เสื่อม ตำราฉีเหมินเย่าซูกล่าวว่า หากทำตามฤดูกาลและธรรมชาติของดินจะใช้แรงน้อยแต่ได้ผลมาก แนวคิดนี้เพื่อเน้นย้ำว่า ฟ้า ดิน คน เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว เชื่อมโยงระบบนิเวศ ,ธรรมชาติ , กับอารยธรรมของมนุษย์ และทำสิ่งต่างๆให้เป็นไปตามกฎธรรมชาติ”
หรือแม้กระทั่งครั้งหนึ่งที่สีจิ้นผิงกล่าวถึงการสร้างสรรค์และพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีของจีน แทนที่ท่านจะยกคำของนักวิทยาศาสตร์สำคัญท่านใดท่านหนึ่งมาสักคน ท่านกลับยกคำกล่าวของซางทัง(商汤) กษัตริย์จีนเมื่อครั้งบรรพกาลที่สลักอักษร 6 คำไว้ที่อ่างอาบน้ำของตนเองไว้ว่า “苟日新 , 日日新 , 又日新” ที่แปลความได้ว่า “เมื่อจะพัฒนา การพัฒนาทุกวัน ถึงจะเป็นการพัฒนา” ซึ่งเป็นการนำอดีตมาหลอมรวมเข้ากับปัจจุบันเพื่อก้าวสู่อนาคตได้อย่างลงตัว
แต่อีกสิ่งหนึ่งที่น้อยคนจะทราบก็คือ แม้ว่าภาระหน้าที่ของสีจิ้นผิงจะมีมากมายเพียงไร ท่านก็ยังแสดงออกถึงความรักครอบครัวมาเสมอ ดังที่สีจิ้นผิงเคยให้สัมภาษณ์ในหลายสื่อเรื่องของการต้องโทรศัพท์คุยกับมารดาและภริยาของท่านทุกวัน ซึ่งเรื่องนี้สีจิ้นผิงเองก็เคยยกเอาคำกล่าวของเมิ่งจื่อมาเพื่อเน้นย้ำความสำคัญของครอบครัวไว้ว่า “天下之本在国,国之本在家” ซึ่งแปลว่า “รากฐานของโลกคือประเทศ รากฐานของประเทศคือครอบครัว” เป็นต้น
บทความโดย อาจารย์เอกรัตน์ จันทร์รัฐิติกาล (ผู้อำนวยการสถาบันขงจื่อเส้นทางสายไหมทางทะเล(ฝ่ายไทย) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์)
ถอดความจากรายการจับจ้องมองจีน รายการซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง China Media Group กับ Nation TV