In News
นายกฯเตือนวันหยุดยาวตลอดธันวาคมนี้ ระวังการขับขี่-รถพร้อมคนพร้อม-งดดื่ม
กรุงเทพฯ-นายกรัฐมนตรีห่วงใยประชาชนเดินทางวันหยุดยาวตลอดเดือน ธ.ค. ขอให้เพิ่มความระมัดระวังการขับขี่ ตรวจสภาพรถ คนขับให้มีความพร้อม งดดื่มแอลกอฮอล์ จัดคาร์ซีทสำหรับเด็ก กำชับหน่วยงานเกี่ยวข้องอำนวยความสะดวกดูแลความปลอดภัย
วันนี้ (3 ธ.ค.65) น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ห่วงใยประชาชนที่คาดว่าจะมีการเดินทางมากตลอดเดือน ธ.ค. 65 เนื่องจากมีวันหยุดยาวหลายช่วงด้วยกัน ได้แก่ ช่วงวันพ่อแห่งชาติ 3-5 ธ.ค. นี้ วันรัฐธรรมนูญ 10-12 ธ.ค. และในเทศกาลปีใหม่ จึงกำชับให้หน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ อำนวยความสะดวกการเดินทางให้ประชาชน ให้คำแนะนำ ตลอดจนกวดขันพฤติกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุ เช่นการเมาแล้วขับ
ในส่วนของประชาชนโดยเฉพาะผู้เดินทางทางถนนนั้นก็ขอให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ โดยตรวจสภาพรถให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน คนขับมีสภาพร่างกายที่พร้อม พักผ่อนเพียงพอ ไม่มีโรคประจำตัวที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการขึ้นในระหว่างขับขี่พาหนะ เช่น หัวใจ ลมชัก งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อน และในขณะขับขี่ คาดเข็มขัดนิรภัยทั้งคนขับและผู้ร่วมเดินทาง และหากมีเด็กร่วมเดินทางควรพิจารณาใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car seat) ผู้ใช้รถจักรยานยนต์สวมหมวกนิรภัยทั้งคนขับขี่และคนซ้อนท้าย ขับรถด้วยความเร็วที่กำกฎหมายกำหนด เคารพกฎจราจรโดยหากพบเห็นผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุให้โทรขอความช่วยเหลือจากทีมแพทย์กู้ชีพทันทีที่สายด่วน 1669 ทันที
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีกำชับทุกหน่วยงานดูแลความปลอดภัยการเดินทางของประชาชนเนื่องจากปัจจุบันอุบัติเหตุทางถนนยังคงเป็นสาเหตุสำคัญของการบาดเจ็บ เสียชีวิต และทุพพลภาพของประชาชน โดยข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. - 23 พ.ย. 65 ทั่วประเทศได้พบผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน รวม 847,317 ราย แบ่งเป็น ผู้บาดเจ็บ 834,130 ราย (ร้อยละ 98.44) ผู้เสียชีวิต13,042 ราย (ร้อยละ 1.53) และทุพพลภาพ 145 ราย (ร้อยละ 0.02)
ทั้งนี้ ผู้ประสบเหตุส่วนใหญ่เป็นเพศชาย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 36-60 ปี โดยพาหนะที่เกิดเหตุมากที่สุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ รองลงมาคือ รถยนต์ จังหวัดที่มีรายงานจำนวนผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากที่สุด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพมหานคร รองลงมาคือ ชลบุรีและนครราชสีมา ซึ่งจากสถิติย้อนหลังเมื่อปี 2564 พบว่าจะมีผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิตสูงในช่วงเดือนมี.ค. ธ.ค. และม.ค. ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีเทศกาลและวันหยุดยาว