In Bangkok
ผู้ว่าฯชัชชาติรับฟังผลงานนศ.ม.ศิลปากร ไอเดียศาลาว่าการเก่าสู่พิพิธภัณฑ์เมือง

กรงเทพฯ-ผู้ว่าฯ ชัชชาติ รับฟังผลงานนักศึกษา ม.ศิลปากร ร่วมเสนอไอเดียเปลี่ยนศาลาว่าการ กทม. สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ
“หัวใจของพิพิธภัณฑ์ คือ สิ่งที่มีชีวิต และเปลี่ยนไปตามบริบทของเมือง หลาย ๆ คนกลัวว่า ร้านค้าแถวนี้จะไม่มีคนซื้อ ผมว่าอย่าไปกลัว หากกลัวมากสุดท้ายก็ไม่ต้องเปลี่ยนเลย ทุกอย่างย่อมมีการเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว ผมว่าไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำพิพิธภัณฑ์ให้น่าตื่นตาตื่นใจ ก็ต้องช่วยกันค่อย ๆ พัฒนาไป โดยทั้ง 3 โครงการสามารถนำมาผสมผสานกันได้ ต้องทำให้มีชีวิต มีคนเกี่ยวข้อง และสะท้อนบางอย่างซึ่งมีความน่าสนใจ ให้คนอยากรู้อยากเห็น และมีความน่าตื่นเต้น ทำให้คนอยากมาเที่ยวกรุงเทพฯ ขอขอบคุณอาจารย์และนักศึกษาทุกท่านด้วยครับ” นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวภายหลังจากการรับฟังการนำเสนอโครงการออกแบบปรับปรุงอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครสู่พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยกรุงเทพฯ จากนักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ภายใต้หลักสูตรสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต (สาขาสถาปัตยกรรมไทย) เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการจัดทำโครงการพิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพฯ โดยมี รศ.ดร.อภิรดี เกษมศุข คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณาจารย์และนักศึกษา ประมาณ 40 คน เข้าร่วม ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) เขตพระนคร วันนี้ (6 ธ.ค. 65)
โครงการออกแบบปรับปรุงอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครสู่พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยกรุงเทพฯ มีวัตถุประสงค์ในการปรับใช้อาคารเก่าที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ให้เกิดคุณค่าใหม่ โดยสืบสานอัตลักษณ์เดิม ให้อาคารสามารถรองรับกิจกรรมร่วมสมัย โดยเป็นประตูเปิดสู่พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ เป็นศูนย์กลางของพื้นที่ใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์และโครงการปรับปรุงอาคารศาลาว่าการกรุงเทพมหานครเป็นพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยกรุงเทพฯ ให้สามารถตอบสนองต่อการใช้งานอย่างร่วมสมัยให้กับผู้ใช้สอยในอาคารพิพิธภัณฑ์และพื้นที่โดยรอบ ขณะเดียวกันเป็นการช่วยฟื้นฟูย่านและกิจกรรมโดยไม่เกิดความแปลกแยก โครงการจึงมีเป้าหมายที่จะให้นักศึกษาออกแบบบนพื้นฐานของกิจกรรมและพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในพื้นที่ โดยมีพื้นที่ที่ทำการศึกษาอยู่ระหว่างถนนดินสอ ถนนบำรุงเมือง ถนนศิริพงษ์ ให้เกิดกิจกรรมใหม่ที่สามารถฟื้นฟูและขับเคลื่อนย่านตามข้อกำหนดของกรุงรัตนโกสินทร์ชั้นนอก การนำเสนอผลงานประกอบด้วยข้อมูลเบื้องต้น กระบวนการพัฒนาโครงการ โปรแกรมการใช้อาคารและผลงานของนักศึกษา ในลักษณะ power point presentation และ short animation
จากการศึกษาในเวลา 1 ภาคการศึกษา นักศึกษาทั้ง 3 กลุ่มได้นำเสนอแนวทางบนพื้นฐานของข้อมูลและความสนใจของกลุ่ม ดังนี้ 1. การพัฒนาและขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ 2. ศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ในย่านพระนคร และ 3. การยกระดับเอกลักษณ์ของชุมชนในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต โดยแบ่งผลงานของนักศึกษาออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 การพัฒนาและขยายตัวของเมืองกรุงเทพฯ ภายใต้แนวคิด connect ประวัติศาสตร์การพัฒนาของเมืองกรุงเทพฯ มีความเป็นมาอันยาวนาน โดยการเปลี่ยนแปลงแนวคิดของการปกครอง และเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้ส่งผลต่อการก่อรูปและสัณฐานของเมืองที่มีลักษณะเฉพาะตัว พิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยกรุงเทพ ฯ จึงควรทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมถึงพัฒนาการเหล่านั้น เพื่อสื่อสารให้ประชาชนคนไทย และชาวต่างชาติ ได้เข้าใจถึงที่มาที่ไปของกรุงเทพ ฯ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษากรุงเทพ ฯ ก่อนลงไปเที่ยวและเยี่ยมชมพื้นที่
กลุ่มที่ 2 รัตนโกสินทร์ในฐานะย่านศิลปวัฒนธรรม ภายใต้แนวคิด outside-in และ inside-out พื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์ชั้นใน ชั้นนอก และพื้นที่ส่วนต่อขยายของกรุงรัตนโกสินทร์เป็นที่ตั้งของกลุ่มชุมชนที่ทำงานฝีมือ มีช่างทอง ช่างบาตร ช่างพานถม ช่างหล่อ ช่างแกะสลัก ช่างทำทอง ช่างตัดเสื้อ ฯลฯ ซึ่งแสดงถึงรากเหง้าทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญ การยกระดับงานศิลปะที่คงอยู่ให้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม และการฟื้นฟูพื้นที่ทางศิลปะที่หายไปให้กลับมาอีกครั้ง จะช่วยให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการสร้างอาชีพให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองสร้างสรรค์ด้านศิลปะ
และกลุ่มที่ 3 การยกระดับเอกลักษณ์ของชุมชนในฐานะพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ภายใต้แนวคิด living map museumพื้นที่กรุงรัตนโกสินทร์มีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่ในอดีต เป็นที่ตั้งรกรากของชุมชนในหลากหลายรูปแบบ ทั้งเพื่อการตั้งถิ่นฐาน การค้าขาย ช่างฝีมือ ช่างก่อสร้าง ฯลฯ ปัจจุบันชุมชนเหล่านี้ได้กลายเป็นเสน่ห์ของเมือง ที่แสดงถึงรากเหง้าและประวัติศาสตร์ในการเรียนรู้ การยกระดับและการสื่อสารเรื่องราวเกี่ยวกับชุมชนเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทางเศรษฐกิจระดับพื้นฐาน สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนต่อไป
นอกจากนักศึกษาทั้ง 3 กลุ่มได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาโปรแกรมส่วนหลักที่เป็นเนื้อหาของพิพิธภัณฑ์แล้ว ยังมีการสร้างโปรแกรมเพื่อตอบสนองต่อแนวคิดของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ต้องการให้พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่ third place ของย่าน และโครงการยังให้ความสำคัญต่อการสานต่อของกิจกรรมต่อพื้นที่เมือง ให้อาคารเป็นส่วนหนึ่งของย่านและชุมชน เป็น Public space ที่ผู้คนโดยรอบสามารถเข้ามาใช้พื้นที่เพื่อประกอบกิจกรรมนันทนาการในช่วงเวลาที่แตกต่างกันออกไป สามารถเป็น Landmark ที่ตอบโจทย์ต่อการเข้าชมทั้งจากกลุ่มคนไทยและกลุ่มชาวต่างชาติ เพื่อให้การใช้งานพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยกรุงเทพฯ เกิดการผสมผสานของกิจกรรมในหลากหลายรูปแบบที่ส่งเสริมต่อย่าน การบริหารจัดการอาคารส่งเสริมคุณค่าของอาคารที่เป็นตัวแทนของสถาปัตยกรรมไทยร่วมสมัยในยุค พ.ศ. 2490 และการสร้างกิจกรรมใหม่ที่เป็นส่วนต่อขยายของเมือง ให้ตอบสนองต่อความต้องการร่วมสมัย และเพิ่มพื้นที่สาธารณะในบริเวณย่านเมืองเก่าต่อไป
สำหรับผู้เข้าร่วมรับฟังโครงการวันนี้มี นายภิมุข สิมะโรจน์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมบูรณ์ หอมนาน ผู้อำนวยการสำนักวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว ศ.ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ พร้อมคณะกรรมการบริหารจัดการศาลาว่าการกรุงเทพมหานครและลานคนเมือง สู่พิพิธภัณฑ์เมืองกรุงเทพมหานคร ผศ.ดร.พีรยา บุญประสงค์ และอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร