In News

'ศักดิ์สยาม'ลุยญี่ปุ่นเปิดทวิภาคี3งานใหญ่ 'JICA-MLIT-UR'ดันรถไฟความเร็วสูง



'ศักดิ์สยาม'นำคณะบุกญี่ปุ่น รุกประชุมหารือทวิภาคีกับผู้บริหารองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA)ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้นประชุมหารือทวิภาคีกับ H.E. Mr. SAITO Tetsuo (นายไซโต เท็ตสึโอะ)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น และตามด้วย ได้ประชุมหารือทวิภาคีกับประธานองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR)และเยี่ยมชมการพัฒนาโครงการ Minato Mirai (MM21) ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ Mr. ONODERA Seiichi (นายโอโนะเดะระ ไซจิ) รองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) และผู้บริหาร JICA โดยมีนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือฯ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ อาคารสำนักงานใหญ่ JICA (Nibancho Center Building) กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า การมาเยือนสำนักงานใหญ่ JICA ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการหารือถึงภารกิจการดำเนินงานที่มีร่วมกัน ทั้งการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำในโครงการพัฒนาระบบขนส่งมวลชน และความร่วมมือทางวิชาการระหว่างกระทรวงคมนาคมและ JICA และขอขอบคุณนายโอโนะเดะระ ไซจิ รองประธาน JICA ที่เชิญมาเยือนประเทศญี่ปุ่นและให้การต้อนรับเป็นอย่างดี โดยการประชุมหารือระดับทวิภาคีครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นสำคัญในการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ดังนี้

1.การพัฒนาเมืองกับระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง (Transit Oriented Development: TOD) และการพัฒนาพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ฝ่ายไทยกล่าวว่า การเยี่ยมชมโครงการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) และเมืองอัจฉริยะ (Smart City) จะเป็นการถอดบทเรียนความสำเร็จของญี่ปุ่นเพื่อพัฒนาโครงการของไทยโดยในส่วนของ TOD กระทรวงคมนาคมได้มอบหมายสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจรเป็นหน่วยหลักในการกำหนดขอบเขตและแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินให้มีประสิทธิภาพ สอดรับกับการพัฒนาระบบรางและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ฝ่ายไทยขอบคุณ JICA ที่ได้ดำเนินการศึกษาแผนแม่บทรวมในการพัฒนาพื้นที่บางซื่อซึ่งปัจจุบันได้รับพระราชทานชื่อเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) คือ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท (SRT Asset) จำกัด เพื่อบริหารสินทรัพย์ของ รฟท. ในการนี้ ฝ่ายไทยขอให้ JICA พิจารณาสนับสนุนบริษัท SRT Asset ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคในพื้นที่บางซื่อ เพื่อเป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์และเชื่อมโยงกับระบบคมนาคมขนส่งต่อไป

2.โครงการพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 2 (M-MAP2) และความร่วมมือที่เกี่ยวข้องด้านระบบราง ฝ่ายไทยขอบคุณ JICA ที่ให้การสนับสนุนการจัดทำแผนงานโครงข่ายทางราง (M-MAP2) โดยการศึกษาดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อต่อยอดแผนแม่บท M-MAP เดิม ให้มีความครอบคลุมและสอดคล้องกับแนวโน้มการเติบโตของเมืองในอนาคต ซึ่งสถานะปัจจุบัน โครงการฯ อยู่ระหว่างดำเนินการพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์ความต้องการเดินทางด้วยระบบราง (Railway Demand Forecast Model) ร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จในปี 2567 ในการนี้ ฝ่ายไทยขอให้ JICA พิจารณาสานต่อการพัฒนาระบบร่างร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม อาทิ กรมการขนส่งทางราง สถาบันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีระบบราง (องค์การมหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย เพื่อผลักดันนโยบายการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางรางและการโดยสารของประชาชน

3. โครงการพัฒนาสมรรถนะการบริหารงานโครงการอุโมงค์ในประเทศไทย และการใช้ประโยชน์จาก Big Data ในการบริหารจัดการจราจรทางถนน ฝ่ายไทยขอบคุณสำหรับการประสานกำหนดการเยี่ยมชมการบริหารงานโครงการอุโมงค์ทางด่วน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อบุคลากรฝ่ายไทยที่ได้รับองค์ความรู้ในการเพิ่มสมรรถนะในการปฏิบัติงานทั้งในส่วนของการก่อสร้างและการบริหารโครงการ ในการนี้ ฝ่ายไทยขอให้ JICA พิจารณาสนับสนุนความร่วมมือทางถนนในการวิเคราะห์แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุและการจราจรที่ติดขัด เพื่อนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้กับระบบการควบคุมสัญญาณไฟจราจรเพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณการจราจรบนท้องถนน โดยดำเนินการร่วมกับกรมทางหลวง รวมถึงพิจารณาสนับสนุนความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบ Big Data ของกระทรวงคมนาคมให้ครอบคลุมทุกมิติ

4. โครงการความปลอดภัยทางถนน ฝ่ายไทยขอบคุณ JICA ในการดำเนินโครงการความปลอดภัยทางถนนระหว่างปี 2563 – 2567 ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนของไทย ทั้งในด้านการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการข้อมูลสารสนเทศ การศึกษามาตรการด้านวิศวกรรมความปลอดภัยทางถนน การศึกษาด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับการออกใบอนุญาตขับขี่ และการจัดการด้านความปลอดภัยสำหรับยานพาหนะเพื่อการพาณิชย์ ในการนี้ ฝ่ายไทยขอให้ JICA พิจารณาสานต่อโครงการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับกระทรวงคมนาคมต่อไป

หลังจากนั้น นายศักดิ์สยาม ได้ประชุมหารือทวิภาคีกับ H.E. Mr. SAITO Tetsuo (นายไซโต เท็ตสึโอะ)รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

นายศักดิ์สยาม  เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ H.E. Mr. SAITO Tetsuo (นายไซโต เท็ตสึโอะ) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) โดยมีนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือฯ ในวันที่ 7 ธันวาคม 2565 ณ อาคารสำนักงาน MLIT กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น

รัฐมนตรีว่าการคมนาคม กล่าวว่าการเข้าร่วมประชุมหารือทวิภาคีในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันประเด็นการดำเนินงานที่มีร่วมกันในปัจจุบันและในอนาคต ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) และขอขอบคุณนายไซโต เท็ตสึโอะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่งและการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดี และให้ความสำคัญกับความร่วมมือในการพัฒนาความเชื่อมโยงและโครงสร้างพื้นฐานในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง และยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจะมีความก้าวหน้าและมั่นคงต่อไป โดยการประชุมหารือระดับทวิภาคีครั้งนี้ ได้มีการหยิบยกประเด็นสำคัญในการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศไทย ดังนี้

1. ภาพรวมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น ทั้งสองฝ่ายได้กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเอเปคของไทยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา โดยนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้เดินทางเยือนประเทศไทยเพื่อเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว นอกจากนี้ ฝ่ายไทยและฝ่ายญี่ปุ่นได้มีการลงนาม “แผนปฏิบัติการร่วมว่าด้วยหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ด้านเศรษฐกิจไทย - ญี่ปุ่น ในระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2565 - 2569) ฝ่ายไทยหวังว่าการเยือนประเทศญี่ปุ่นในครั้งนี้จะได้หารือและผลักดันประเด็นต่าง ๆ ที่ทั้งสองฝ่ายมีการดำเนินการร่วมกัน

2. การพัฒนาระบบรางและความเชื่อมโยงความสนใจของฝ่ายญี่ปุ่นในโครงการระบบรถไฟชานเมือง (สายสีแดง) โครงการรถไฟขนส่งมวลชน และโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ - เชียงใหม่ ฝ่ายไทยได้กล่าวถึงความก้าวหน้าของการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงของการรถไฟแห่งประเทศไทย และโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน – ราษฎร์บูรณะ (วงแหวนกาญจนาภิเษก) ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย และขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่นสำหรับการสนับสนุนนการศึกษารถไฟความเร็วสูงเส้นทาง กรุงเทพฯ – เชียงใหม่ ร่วมกับกรมการขนส่งทางราง และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีการประสานความร่วมมือระหว่างกันต่อไปในอนาคต

3. การพัฒนาเมืองอัจฉริยะ และการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน ฝ่ายไทยขอขอบคุณรัฐบาลญี่ปุ่น ที่ได้มีส่วนช่วยสนับสนุนการศึกษาพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ควบคู่กับการพัฒนาพื้นที่โดยรอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ในประเทศไทย โดยเฉพาะสถานีกลางบางซื่อซึ่งได้รับพระราชทานนามเป็นสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และยินดีเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่นที่มีความสนใจในการลงทุนพัฒนาเมืองอัจฉริยะและ TOD
นอกจากนี้ ฝ่ายไทยยังได้เสนอโอกาสการสร้างความสัมพันธ์มิติใหม่ในด้านคมนาคมขนส่งซึ่งมีความสอดคล้องกับบริบทของโลก เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานสะอาด การใช้เทคโนโลยีและระบบวิศวกรรมขั้นสูงในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างอุโมงค์ของฝ่ายญี่ปุ่น 

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกันลงนามบันทึกความร่วมมือระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทยและกระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น ด้านระบบราง โดยมีขอบเขตเพื่อส่งเสริมองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องด้านระบบราง ในด้านนโยบาย กฎหมายและกฎระเบียบ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงร่วมเป็นสักขีพยานในการแสดงเจตจำนงการต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการบางซื่อ ระหว่างกระทรวงคมนาคม การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) และองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (UR) โดยอัตโนมัติ โดยมีขอบเขตความร่วมมือเพื่อผลักดันการพัฒนาแผนแม่บทการพัฒนาเมืองอัจฉริยะพื้นที่บริเวณบางซื่อและแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง ให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม The minutes of Meeting ระหว่าง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด และ UR เกี่ยวกับผลการประชุมการพัฒนาเมืองอัจฉริยะรอบพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ หรือโครงการเมืองอัจฉริยะบางซื่อ (Bang Sue Smart City Project)

และตามด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมประชุมหารือทวิภาคีกับประธานองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR)และเยี่ยมชมการพัฒนาโครงการ Minato Mirai (MM21) ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

นายศักดิ์สยาม  เข้าร่วมการประชุมหารือทวิภาคีกับ Mr. Nakajima Masahiro ประธานองค์กรพัฒนาและฟื้นฟูเมืองญี่ปุ่น (Urban Renaissance Agency: UR) และเยี่ยมชมการพัฒนาโครงการ Minato Mirai (MM21) โดยมีนายสิงห์ทอง ลาภพิเศษพันธุ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงโตเกียว นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก รักษาราชการ รองปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหารระดับสูงในสังกัดกระทรวงคมนาคม เข้าร่วมการประชุมหารือฯ และเยี่ยมชมโครงการฯ ในวันที่ 8 ธันวาคม 2565 ณ เมืองโยโกฮาม่า ประเทศญี่ปุ่น

นายศักดิ์สยาม  กล่าวว่า การเข้าร่วมประชุมหารือทวิภาคีในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันประเด็นความร่วมมือระหว่าง UR กับหน่วยงานของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย และบริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRT Asset)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การพัฒนาพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์กว่า 2,325 ไร่ ซึ่งปัจจุบัน UR ร่วมกับ บริษัท SRT Asset อยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาพื้นที่นำร่องโครงการ (Leading Project Plan) วิสัยทัศน์การพัฒนาโครงการ และโครงสร้างหน่วยงานที่เหมาะสมสำหรับการบริหารพื้นที่รอบสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ในระยะยาว ทั้งนี้ ฝ่ายไทยได้ขอให้ UR พิจารณาสนับสนุนการศึกษาแผนแม่บทของโครงการ (Master Plan) รวมถึงรายละเอียดของแผนปฏิบัติการ (Action Plan) เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามแผนงานให้บรรลุวัตถุประสงค์และเกิดผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม รวมถึงการสนับสนุนการประชาสัมพันธ์การพัฒนาโครงการ และการจัดทำแผนเพื่อกระตุ้นการลงทุนเพื่อดึงดูดภาคธุรกิจโดยเฉพาะนักลงทุนที่มีศักยภาพจากประเทศญี่ปุ่นด้วย

ในโอกาสนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และคณะ ได้เข้าเยี่ยมชมโครงการพัฒนาเมืองมินาโตะ มิไร (Minato Mirai (MM21)) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงท่าเรือและย่านอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน และแบ่งเบาความหนาแน่นของตัวมหานครโตเกียวมาสู่ปริมณฑลใกล้เคียง และเนื่องจากการที่เมืองโยโกฮาม่ามีการเชื่อมต่อกับกรุงโตเกียวด้วยระบบรถไฟความเร็วสูง และเป็นเมืองเศรษฐกิจที่มีท่าเรือที่สำคัญ ผนวกกับโครงการฯ มีการวางรูปแบบผังเมืองที่เป็นสัดส่วนและเป็นระบบ ทำให้ปัจจุบันได้พัฒนากลายเป็นที่ตั้งของอาคารสำนักงานธุรกิจชั้นนำ แหล่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมระดับสูง และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อาทิ พื้นที่เชิงพาณิชย์ ศูนย์กลางการค้าของเมืองโยโกฮาม่า พื้นที่ค้าปลีก และห้างสรรพสินค้า Yaesu Shopping Mall ซึ่งเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟโดยตรง โดยการเยี่ยมชมโครงการ “มินาโตะ มิไร” ในครั้งนี้ ทำให้กระทรวงคมนาคมสามารถถอดบทเรียนในการพัฒนาเมืองใหม่และพื้นที่รอบสถานีที่เชื่อมต่อกับโครงข่ายระบบขนส่งมวลชนอย่างมีประสิทธิภาพ อันจะเป็นแนวทางสำคัญในการกำหนดนโยบายการพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐ เพื่อกระจายความเจริญและการเติบโตทางเศรษฐกิจไปสู่พื้นที่อื่นนอกเหนือจากกรุงเทพมหานคร และแก้ไขปัญหาความแออัดและการจราจรที่ติดขัดในกรุงเทพมหานครอย่างยั่งยืน