In News

นายกฯหารือ'ลอร์ดโพลแห่งเบย์สวอเตอร์ ฝากสนับสนุนลดภาษี-ผลักดันจัดทำFTA



กรุงเทพฯ-นายกฯ หารือลอร์ดโพลแห่งเบย์สวอเตอร์ ชื่นชมพลวัตในความสัมพันธ์ไทย-สหราชอาณาจักร พร้อมเพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

วันนี้ (วันพฤหัสบดีที่ 8 ธันวาคม 2565) เวลา 11.00 น. ณ ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ลอร์ดโพลแห่งเบย์สวอเตอร์ (Lord Powell of Bayswater KCMG) สมาชิกสภาขุนนางสหราชอาณาจักร เข้าเยี่ยมคารวะ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบหารือกับลอร์ดโพลแห่งเบย์สวอเตอร์ ซึ่งเปรียบเสมือนเพื่อนเก่าที่มีความใกล้ชิด ได้พบหารือร่วมกันในหลายโอกาส พร้อมทั้งชื่นชมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรที่แน่นแฟ้นและยาวนาน โดยนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่าการหารือในครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยส่งเสริมพลวัตในความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้น โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกล่าวถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 พระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แห่งสหราชอาณาจักร พร้อมแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อการเสด็จสวรรคตของ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งทรงเป็นที่รักและเคารพของปวงชนชาวไทย

ด้านลอร์ดโพลแห่งเบย์สวอเตอร์ขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นเสมอมา พร้อมทั้งแสดงความยินดีต่อความสำเร็จของไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค 2022 ชื่นชมนายกรัฐมนตรีที่มีศักยภาพในการรวบรวมความร่วมมือ บริหารจัดการ และดำเนินวาระการประชุมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ท่ามกลางสถานการณ์ความตึงเครียดในประเด็นต่าง ๆ นอกจากนี้ ลอร์ดโพลแห่งเบย์สวอเตอร์ชื่นชมการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ของรัฐบาลไทย ซึ่งสร้างความเชื่อมั่นและดึงดูดนักท่องเที่ยวรวมทั้งจากสหราชอาณาจักรให้เดินทางมายังประเทศไทยมากขึ้นด้วย 

ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องกันว่า ไทยและสหราชอาณาจักรยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างกันได้อีกมาก โดยนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำการดำเนินนโยบายของไทย ฟื้นฟูเศรษฐกิจให้มีการเติบโตที่ยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีโมเดลเศรษฐกิจ BCG ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ สอดคล้องกับแผน 10 ประการเพื่อปฏิวัติอุตสาหกรรมสีเขียวของสหราชอาณาจักร ซึ่งทั้งสองฝ่ายสามารถมีความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีเชิญชวนนักลงทุนจากสหราชอาณาจักรเข้ามาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) มากขึ้น ในสาขาที่สหราชอาณาจักรมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสหราชอาณาจักรสามารถใช้ไทยเป็นฐานในการผลิตได้

นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีขอให้สหราชอาณาจักรสนับสนุนการลดภาษีนำเข้าสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (eco-friendly goods) ของไทยด้วย พร้อมพิจารณาร่วมกันผลักดันการจัดทำ FTA ระหว่างกันให้เป็นรูปธรรม ผ่านกลไกความร่วมมือทวิภาคีที่มีอยู่ อาทิ การประชุมคณะกรรมการหารือเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Dialogue) และการประชุมคณะกรรมการร่วมด้านเศรษฐกิจและการค้า (JETCO) ตลอดจนเชิญชวนสหราชอาณาจักรใช้ประโยชน์จากการลดอัตราภาษีนำเข้าทั่วไปสำหรับรายการสินค้าสิ่งแวดล้อมที่ไทยจัดทำร่วมกับสมาชิกเขตเศรษฐกิจเอเปคด้วย