In News

สรรพสามิตลดภาษีหนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้า ล่าสุดร่วมลงนามกับ'เมอร์เซเดส-เบนซ์'



กรุงเทพฯ-กรมสรรพสามิตขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่อง ล่าสุดลงนามข้อตกลงกับ บจก.เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ลดภาษีสรรพสามิต ตามขนาดความจุของแบตเตอรี่สำหรับการนำเข้าและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น

กรมสรรพสามิตขับเคลื่อนมาตรการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าต่อเนื่อง ล่าสุดลงนามข้อตกลงกับบจก.เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) ลดภาษีสรรพสามิต ตามขนาดความจุของแบตเตอรี่สำหรับการนำเข้าและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้น เพื่อประชาชนสามารถเข้าถึงการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการปล่อยมลพิษ และขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเน้นการดำเนินการในเรื่อง ESG ตามยุทธศาสตร์ EASE Excise ของกรมฯ

ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่าวันนี้ (9 ธันวาคม 2565) กรมสรรพสามิตได้ลงนามข้อตกลงตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระหว่างกรมสรรพสามิตกับผู้นำเข้ารถยนต์เพิ่มอีก 1 ราย คือ บริษัท เมอร์เซเดส-เบนซ์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยบริษัทจะได้รับสิทธิลดอากรศุลกากร และลดภาษีสรรพสามิต ขึ้นอยู่กับขนาดความจุของแบตเตอรี่ สำหรับการนำเข้ารถยนต์แบบพลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle: BEV) ในปี 2565 – 2566 และผลิตรถยนต์ BEV ในปี 2565 – 2568 จากการลงนามในครั้งนี้ ทำให้ปัจจุบันมีผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้าลงนามในข้อตกลงกับกรมสรรพสามิตแล้ว จำนวน 12 ราย แบ่งเป็นผู้ประกอบอุตสาหกรรมและผู้นำเข้ารถยนต์ จำนวน 9 ราย และรถจักรยานยนต์ จำนวน 3 ราย

ทั้งนี้ กรมสรรพสามิตได้จ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์แล้ว จำนวน 1 ครั้ง จำนวนรวมทั้งสิ้น 540 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุนจำนวน 81,000,000 บาท และอยู่ระหว่างการดำเนินการเพื่อจ่ายเงินอุดหนุนให้แก่ผู้มีสิทธิได้รับเงินอุดหนุนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์ ครั้งที่ 2 จำนวนรวมทั้งสิ้น 1,297 คัน คิดเป็นเงินอุดหนุนจำนวน 194,550,000 บาท โดยคาดว่าจะมียอดจองและยอดขายรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ขอรับสิทธิตามมาตรการฯ ภายในสิ้นปี 2565 รวมกันทั้งสิ้นกว่า 25,000 คัน และจะมีผู้ประกอบอุตสาหกรรม/ผู้นำเข้ารถยนต์ที่สนใจทยอยเข้าร่วมลงนามเพิ่มขึ้นอีกในระยะเวลาอันใกล้นี้ ซึ่งจะส่งผลให้รถยนต์และรถจักรยานยนต์ BEV มีราคาลดลงและสร้างแรงจูงใจให้ผู้บริโภค หันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นและช่วยส่งผลดีต่อการลดมลพิษด้านสิ่งแวดล้อมของประเทศ ขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ซึ่งเป็นสิ่งที่กรมสรรพสามิตให้ความสำคัญ และได้บรรจุในเรื่อง สิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) อยู่ในยุทธศาสตร์ EASE Excise ที่กรมสรรพสามิตจะดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป อธิบดีกรมสรรพสามิตกล่าวทิ้งท้าย