In News

นายกฯสั่งติดตามอียู.ผ่านกม.ห้ามนำเข้า สินค้าเกี่ยวกับการทำลายป่าแจงผู้ส่งออก



กรุงเทพฯ-นายกรัฐมนตรีมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามผลกระทบจากกรณีสหภาพยุโรปผ่านกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่า ทำความเข้าใจและให้ความรู้ผู้ประกอบการและเกษตรกรตลอดห่วงโซ่การผลิต

วันที่ 14 ธ.ค. 65 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ติดตามรายละเอียดกรณีที่คณะกรรมาธิการสหภาพยุโปร(อียู) ได้บรรลุข้อตกในการมีกฎหมายห้ามการน้ำเข้าผลิตภัณฑ์หลายชนิด ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อมาจำหน่ายในสหภาพยุโรป ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่อสินค้าในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ  น้ำมันปาล์ม,ปศุสัตว์, ถั่วเหลือง, กาแฟ, โกโก้, ไม้, ยางพารา

ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวอาจจะกระทบต่อสินค้าจากประเทศไทยที่ส่งออกไปยังประเทศในสหภาพยุโรปด้วย เนื่องจากผลของกฎหมายจะบังคับให้ผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าจากทั่วโลกไปขายในยุโรปจะต้องจัดทำรายงานการตรวจสอบสถานะของผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาขายว่าตลอดห่วงโซ่การผลิตนั้นไม่เกี่ยวข้องกับตัดไม้ทำลายป่า

“ข้อตกลงของอียูในเรื่องนี้ยังเหลือขั้นตอนการอนุมัติเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้เร็วๆ นี้ และจะให้เวลาผู้ประกอบการทั่วยุโรปที่นำเข้าสินค้าหรือมีห่วงโซ่การผลิตอยู่ทั่วโลกเตรียมตัวเพื่อทำรายงานรับรองกระบวนการผลิตประมาณ 18-24 เดือนแล้วแต่ขนาดของธุรกิจ นายกรัฐมนตรีขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามรายละเอียดของกฎหมายเรื่องนี้ว่าครอบคลุมสินค้าใดบ้าง ประเมินผลกระทบต่อประเทศไทย พร้อมกับให้ข้อมูลกับผู้ประกอบการและเกษตรกรให้เกิดความเข้าใจทั้งห่วงโซ่การผลิต และปรับตัวให้ทันกับกฎกติกาใหม่ที่จะเกิดขึ้น” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับประเด็นการผลิตที่ยั่งยืน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และคาร์บอน ซึ่งทิศทางดังกล่าวได้ส่งผลไปถึงการออกมาตรการและกฎหมายในหลายประเทศ ซึ่งสามารถเป็นเครื่องกีดกันทางการค้าในระยะต่อไป นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลตระหนักถึงประเด็นดังกล่าวจึงได้กำหนดให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจและลงทุนบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว หรือ BCG Model เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญเร่งด่วน และได้มีการนำเสนอเป็นหนึ่งในประเด็นหลักของการประชุมเขตเศรษฐกิจเอเปคที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ซึ่งสมาชิกเอเปคให้การสนับสนุน เนื่องจากเห็นพ้องต่อความเร่งด่วนที่ทั่วโลกต้องมีกระบวนการสร้างความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม