In News

ภารกิจนายกฯประชุมสุดยอดอาเซียน-อียู เปิดหารือทวิภาคีวันเดียว4ประเทศรวด



เบลเยี่ยม-นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เสนอให้อาเซียนและสหภาพยุโรปปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่ายผลักดันความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ในการประชุมครั้งนี้ นายกฯได้หารือทวิภาคีกับหลายประเทศ อาทิ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก ร่วมกันหารือแนวทางความร่วมมือที่มีอยู่ และความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ เพื่อสร้างความพร้อมให้ทั้งสองประเทศและภูมิภาคอย่างยั่งยืนในอนาคต นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ย้ำความสัมพันธ์ในทุกระดับ พร้อมหวังเพิ่มพูนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าการลงทุน โลจิสติกส์ การเกษตรฯ นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือความสัมพันธ์ไทย-ฟินแลนด์ให้แน่นแฟ้นในทุกด้าน และนายวิคเตอร์ ออร์บาน (H.E. Mr. Viktor Orbán) นายกรัฐมนตรีฮังการี พร้อมสานต่อความร่วมมือรอบด้าน ส่งเสริมการค้าการลงทุนพัฒนาธุรกิจด้านการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ นอกจากนั้นยังได้นายกฯ ร่วมในพิธีลงนามร่างกรอบความตกลง PCA EU-Thai ยกระดับความร่วมมือไทย-อียู ให้ใกล้ชิด เข้มข้น เป็นระบบ

วันนี้ (14 ธันวาคม 2565) เวลา 10.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์) ณ อาคาร Europa กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หารือกับนายเป็ตร์ ฟียาลา (Mr. Petr Fiala) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก ในช่วงการประชุมอาเซียน-อียู สมัยพิเศษ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างกัน โดยสาธารณรัฐเช็กเป็นฝ่ายทาบทามการหารือ ภายหลังเสร็จสิ้น นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยและเช็กมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน โดยจะครบรอบ 50 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ในปี 2567 นายกรัฐมนตรีหวังว่า ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกันกระชับความสัมพันธ์ และพัฒนาความร่วมมือเพื่อประโยชน์ร่วมกัน พร้อมหวังว่า ไทยและเช็กจะสามารถจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ (Joint Commission on Economic Cooperation: JEC) ครั้งที่ 3 ได้โดยเร็ว เพื่อร่วมกันหารือแนวทางความร่วมมือที่มีอยู่ และความร่วมมือในสาขาใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพ

ด้านนายกรัฐมนตรีเช็กกล่าวยินดีที่ได้พบหารือกันในวันนี้ ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพ และมีบทบาทสำคัญในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้หารือถึงความร่วมมือทวิภาคีระหว่างทั้งสองประเทศ รวมถึงความร่วมมือในกรอบพหุภาคีด้วย ไทยและเช็กถือได้ว่ามีความร่วมมือในหลายด้าน ซึ่งหวังว่าจะได้เพิ่มพูนและแลกเปลี่ยนความร่วมมือในด้านที่ต่างฝ่ายต่างมีศักยภาพมากขึ้นอีกในอนาคต

ผู้นำทั้งสองฝ่ายยังได้หารือประเด็นความร่วมมือที่สนใจร่วมกัน ดังนี้

การค้าการลงทุน ทั้งสองยินดีที่มูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2564 สูงถึงกว่า 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 26 เมื่อเทียบกับปี 2563 ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่า ทั้งสองฝ่ายต่างยังมีศักยภาพที่จะสามารถเพิ่มพูนการค้าระหว่างกันได้อีกมาก โดยไทยหวังที่จะเพิ่มพูนการค้าและการลงทุน พร้อมกล่าวเชิญชวนนักลงทุนเช็กเข้ามาลงทุนใน EEC ในอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง โดยเฉพาะการลงทุนในด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและอุปกรณ์ทางการแพทย์

การท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวเช็ก โดยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยมากขึ้น ยินดีอำนวยความสะดวกดูแลนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่ง ผู้นำทั้งสองฝ่ายหวังว่าจะสามารถจัดการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการท่องเที่ยวได้ในปีหน้า เพื่อสานต่อความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวและกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงหลังสถานการณ์โควิด-19

ความมั่นคง ผู้นำทั้งสองต่างยินดีที่ความร่วมมือทางทหารมีพลวัต โดยกระทรวงกลาโหมของทั้งสองฝ่ายมีการประสานงานและร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งนายกรัฐมนตรียินดีที่เช็กได้ไปร่วมงาน Defence & Security 2022 ที่กรุงเทพฯ และเชิญฝ่ายไทยเข้าร่วมงาน International Defence and Security Technologies Fair (IDET Fair)

ความร่วมมือทางอวกาศ ไทยยินดีที่เช็กให้ความสำคัญกับความร่วมมือการทูตด้านอวกาศกับไทย (GISTDA) และได้ร่วมกันจัดงานสัมมนาด้านอวกาศ “The benefits of the EU Space Program and 3SOS” ที่กรุงเทพฯ ซึ่งจะมีส่วนสาคัญในการรับมือกับสภาวการณ์ความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ ด้านนายกรัฐมนตรีเช็กกล่าวว่า เช็กยินดีร่วมมือกับไทยเพื่อส่งเสริมมาตรฐานความร่วมมือทางอวกาศระหว่างประเทศที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายและธรรมาภิบาล

ความร่วมมือพหุภาคี นายกรัฐมนตรีขอบคุณเช็กที่สนับสนุนไทยในกรอบ EU มาโดยตลอด จนนำมาสู่การลงนามความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (Partnership and Cooperation Agreement: PCA) ในการประชุม ASEAN-EU Commemorative Summit ครั้งนี้ นอกจากนี้ ไทยยังยินดีต่อการประกาศยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของ EU และการประกาศยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกของเช็ก โดยไทยพร้อมร่วมมือกับเช็ก และ EU ในการส่งเสริมความร่วมมือภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ภายใต้ค่านิยมและผลประโยชน์ร่วมกัน ซึ่งนายกรัฐมนตรีเช็กได้กล่าวขอบคุณ โดยเช็กในฐานะเป็นประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป (ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม - 31 ธันวาคม 2565) ก็พร้อมร่วมมือกับไทย เพื่อสร้างความพร้อมให้ภูมิภาคอย่างยั่งยืน

นายกฯ หารือนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ย้ำความสัมพันธ์ในทุกระดับ พร้อมหวังเพิ่มพูนความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้าการลงทุน โลจิสติกส์ การเกษตรฯ

เวลา 12.30 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์) ณ อาคาร Europa กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หารือกับนายมาร์ค รึตเตอ (H.E. Mr. Mark Rutte) นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ซึ่งฝ่ายเนเธอร์แลนด์เป็นฝ่ายทาบทาม สรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในประเทศที่มีบทบาทนำในสหภาพยุโรป ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างไทยกับเนเธอร์แลนด์มีความพิเศษและยาวนาน ครอบคลุมในทุกมิติ และในปี พ.ศ. 2567 จะครบรอบ 420 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งทั้งสองประเทศจะได้ร่วมเฉลิมฉลองโอกาสพิเศษนี้ร่วมกัน โดยนายกรัฐมนตรียินดีกับความก้าวหน้าในความสัมพันธ์ระหว่างกัน พร้อมร่วมมือให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และหวังว่าจะรักษาพลวัตความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดผ่านกลไกการประชุม Political Consultations อย่างต่อเนื่อง

ด้านนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ กล่าวยินดีและชื่นชมความสัมพันธ์ที่ยาวนานระหว่างทั้งสองประเทศ ซึ่งเนเธอร์แลนด์พร้อมและมุ่งหวังที่จะขยายความร่วมมือในด้านที่ทั้งสองมีศักยภาพและความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ชื่นชมไทยที่มีบทบาทอย่างสำคัญในเวทีระหว่างประเทศ ยืนยันความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งในรูปแบบทวิภาคี และพหุภาคี เพื่อสานต่อความร่วมมือทั้งในทุกระดับให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

ทั้งสองฝ่ายยังได้หารือในประเด็นต่างๆ ดังนี้

ความท้าทายระหว่างประเทศ ทั้งสองพร้อมร่วมมือกันรับมือความท้าทาย ทั้งในปัจจุบัน และอนาคต โดยไทยกำลังดำเนินนโยบายต่าง ๆ เพื่อเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำและเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งการประชุมเอเปค 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ได้ขับเคลื่อนเครื่องยนต์เศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ที่มี GDP รวมกันกว่าร้อยละ 60 ของโลก และมีจำนวนประชากรกว่าร้อยละ 40 ของโลก และพร้อมสานต่อผลลัพธ์สำคัญของเอเปคร่วมกับสหรัฐอเมริกาในฐานะประเทศเจ้าภาพเอเปคในปีหน้า จึงหวังว่าจะได้ร่วมมือกับประเทศนอกภูมิภาคเอเปค รวมถึงเนเธอร์แลนด์ในการขับเคลื่อนประเด็นสำคัญ อาทิ เป้าหมายกรุงเทพฯ ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG และการฟื้นฟูการเดินทางข้ามพรมแดนที่สะดวกปลอดภัย เป็นต้น

การค้าการลงทุน ผู้นำทั้งสองต่างยินดีที่ทั้งสองประเทศต่างเป็นคู่ค้าสำคัญ โดยนายกรัฐมนตรีได้เชิญเนเธอร์แลนด์ให้มาลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่เนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญ โดยไทยพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกด้านการค้าการลงทุน รวมทั้งพิจารณาใช้ไทยเพื่อเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า และชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งไทยมี นโยบาย EV 30@30 มีเป้าหมายผลิต EV ในไทยให้ได้ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2030 และมีมาตรการสนับสนุนราคารถ EV และสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวเชิญนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์เดินทางเยือนไทยเพื่อหารือด้านการค้าจับคู่ธุรกิจกับภาคเอกชนไทย

ด้านโลจิสติกส์ นายกรัฐมนตรีหวังว่า ทั้งสองประเทศจะกระชับความร่วมมือและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในด้านโลจิสติกส์ เนื่องจากทั้งไทยและเนเธอร์แลนด์ต่างเป็นศูนย์กลางกระจายสินค้าของภูมิภาค และมีจุดแข็งทางด้านโลจิสติกส์ ซึ่งนายกรัฐมนตรียังได้กล่าวชื่นชมศักยภาพและความเชี่ยวชาญของเนเธอร์แลนด์ในด้านการเกษตร ในฐานะประเทศผู้ส่งออกสินค้าเกษตรมากเป็นอันดับสองของโลก หวังว่าจะได้ร่วมกันขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการเกษตรระหว่างกันต่อไป

ในด้านความร่วมมือพหุภาคี ทั้งสองฝ่ายเห็นพ้องต่อการยกระดับความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป ไปสู่ความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ โดยไทยและเนเธอร์แลนด์สามารถเป็นกำลังสำคัญในการส่งเสริมความร่วมมือที่สร้างสรรค์ระหว่างสองภูมิภาค ผู้นำทั้งสองยังยินดีกับการจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษในครั้งนี้ ซึ่งเป็นโอกาสให้ผู้นำของทั้งสองภูมิภาคได้พบปะและผลักดันความร่วมมือที่เป็นผลประโยชน์ร่วมกัน ไทย ในฐานะประเทศผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน ยินดีให้ความร่วมมือกับเนเธอร์แลนด์ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและวาระสีเขียวในภูมิภาคต่อไป

ในตอนท้าย นายกรัฐมนตรีได้ขอรับการสนับสนุนการสมัครเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028-Phuket Thailand โดยหวังที่จะให้เวทีนี้เป็นเวทีให้นานาประเทศนำเสนอแนวทางเพื่อเป็นทางออกร่วมกัน และแลกเปลี่ยนความร่วมมือสู่ความยั่งยืน

นายกรัฐมนตรีหารือนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ พร้อมสนับสนุนความร่วมมือความสัมพันธ์ไทย-ฟินแลนด์ให้แน่นแฟ้นในทุกด้าน

เวลา 13.15 น. (เวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์ซึ่งช้ากว่าเวลาที่กรุงเทพฯ 6 ชั่วโมง) ณ อาคาร Europa กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้พบหารือกับ นางซันนา มาริน (H.E. Mrs. Sanna Marin) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐฟินแลนด์ มีสาระสำคัญของการหารือ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ได้พบนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์เป็นครั้งแรก เชื่อมั่นว่าด้วยศักยภาพและความสามารถของนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์จะมีส่วนสนับสนุนความสัมพันธ์ไทย-ฟินแลนด์ โดยขอใช้โอกาสนี้เชิญนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์เดินทางเยือนไทยในโอกาสที่เหมาะสม นายกรัฐมนตรีชื่นชมพัฒนาการความสัมพันธ์ระหว่างกันที่ทำให้ ไทยและรัฐบาลฟินแลนด์ได้จัดทำความตกลงยกเว้น การตรวจลงตราสำหรับหนังสือเดินทางทูตและหนังสือเดินทางราชการ ระหว่างกันซึ่งมีผลใช้บังคับเมื่อเดือนกันยายน 2565 ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการแลกเปลี่ยนการเยือนระหว่างกัน ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะเป็นโอกาสสำคัญในการพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างกัน

นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ยินดีที่ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีในวันนี้ ซึ่งถือเป็นการพบหารือกันครั้งแรก ชื่นชมศักยภาพของไทย และบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่เป็นความท้าทายที่ทั่วโลกให้ความสนใจ เช่นการสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ทั้งนี้ เชื่อมั่น และพร้อมที่จะมีความร่วมมือกับไทยในสาขาที่เป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย

นายกรัฐมนตรีประสงค์ขยายความร่วมมือด้านการศึกษากับฟินแลนด์ ชื่นชมฟินแลนด์ที่มีระบบการศึกษาที่มีผลสัมฤทธิ์สูงเป็นลำดับต้นของโลก และยินดีกับความร่วมมือด้านการศึกษาที่ใกล้ชิดเป็นรูปธรรม โดยเมื่อต้นปี 2565 กระทรวงศึกษาธิการของไทยและกระทรวงศึกษาธิการ และวัฒนธรรมของฟินแลนด์ได้จัดทำบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่างกัน ซึ่งหวังว่าจะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนบุคลากร และองค์ความรู้ด้านการจัดทำหลักสูตรทางการศึกษามากขึ้น

นายกรัฐมนตรีขอบคุณฝ่ายฟินแลนด์ที่ดูแลสวัสดิภาพของแรงงานไทย จำนวน 2,000- 3,000 คนที่เดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ อย่างไรก็ดี แรงงานเหล่านี้ยังคงไม่มีสัญญาจ้างงาน และไม่ได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายแรงงานของฟินแลนด์ จึงหวังว่าฝ่าย ฟินแลนด์จะร่วมมือกับฝ่ายไทยต่อไปเพื่อแสวงหาแนวทางทางกฎหมายในการคุ้มครองดูแลแรงงานไทยในฟินแลนด์อย่างเป็นรูปธรรม

ในโอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือในประเด็นความร่วมมือที่เกี่ยวข้องกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน ซึ่งนายกรัฐมนตรีฟินแลนด์ชื่นชมบทบาทอย่างกระตือรือร้นของนายกรัฐมนตรีไทยในการร่วมกับประชาคมโลกดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และบทบาทในการนำเสนอโมเดล BCG ของรัฐบาลไทย

นายกฯ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เสนอให้อาเซียนและสหภาพยุโรปปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่ายผลักดันความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านสีเขียวอย่างยั่งยืน และการเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล

(14 ธ.ค. 2565) เวลา 14.45 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์) ณ อาคารยูโรปา กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม พลเอกประยุทธ์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน - สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ เพื่อฉลองวาระครบรอบ 45 ปี ความสัมพันธ์อาเซียน - สหภาพยุโรป พร้อมกับผู้นำหรือผู้แทนอาเซียน 9 ประเทศ และยุโรปอีก 27 ประเทศ โดยภายหลังเสร็จสิ้นการหารือสรุปสาระสำคัญดังนี้

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า การประชุมระหว่างผู้นำของทั้งสองภูมิภาคเกิดขึ้นท่ามกลางความท้าทาย แต่เห็นถึงความมุ่งมั่นของอาเซียนและสหภาพยุโรปที่จะร่วมมือกัน เพื่อแก้ไขปัญหา และร่วมกันเป็นพลังบวกที่สร้างสรรค์ เพื่อนำมาซึ่งความสงบสุข ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน พร้อมเชื่อว่า 45 ปี ที่ผ่านมา สามารถเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำคัญและประโยชน์ของความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์อาเซียน-สหภาพยุโรป ที่ส่งผลต่อสองภูมิภาคและต่อประชาคมโลก

นายกรัฐมนตรีกล่าวถึง 3 เรื่องสำคัญ ที่จะช่วยภูมิภาคและโลกให้บรรลุเป้าหมาย ดังนี้

1. การรับมือกับความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และความท้าทายด้านความมั่นคง นายกรัฐมนตรีมุ่งหวังที่จะเห็นสหภาพยุโรปมีปฏิสัมพันธ์อย่างสร้างสรรค์กับทุกฝ่าย มุ่งสร้างความร่วมมือ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมในภูมิภาคที่เอื้อต่อการพัฒนา เชื่อว่า ทุกฝ่ายต้องสร้างพื้นที่ทางการทูตเพื่อให้เกิดยุทธศาสตร์ทางออก ไทยขอเสนอข้อริเริ่มเพื่อสันติภาพ โดยใช้แนวทางที่แยกเรื่องการสู้รบในพื้นที่ออกจากความร่วมมือและความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจและมนุษยธรรมเพื่อต่อยอดจากความสำเร็จของข้อริเริ่มการส่งออกธัญพืชในทะเลดำ นายกรัฐมนตรีขอให้สหภาพยุโรปร่วมกับประเทศที่เกี่ยวข้องและสหประชาชาติผลักดันร่างข้อมติ เพื่อให้เปิดทางสำหรับปฏิบัติการทางอากาศด้านมนุษยธรรมในการส่งความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ยูเครน 

2. การเปลี่ยนผ่านสีเขียวเพื่อความยั่งยืน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า วิกฤตต่าง ๆ โดยเฉพาะที่เกิดจากธรรมชาติ ทำให้ต้องร่วมกันสร้างความเป็นหุ้นส่วนสีเขียวอาเซียน-สหภาพยุโรป ในฐานะผู้ประสานงานอาเซียนด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ไทยจะร่วมกับสหภาพยุโรปส่งเสริมความร่วมมือทางวิชาการ แลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์เพื่อยกระดับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมในอาเซียน และหวังว่าจะไม่มีการนำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งจะเป็นการบั่นทอนความพยายามของอาเซียน รวมทั้งไทยพร้อมสนับสนุนการแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงทางอาหาร โดยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมนานาชาติว่าด้วยความมั่นคงและความยั่งยืนทางอาหารโลกในปีหน้า พร้อมเชิญผู้นำทุกคนเข้าร่วม

3. การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัล ไทยยินดีกับข้อริเริ่ม Global Gateway ของสหภาพยุโรป สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งด้านดิจิทัล นายกรัฐมนตรีเสนอให้มีการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการอาเซียน-สหภาพยุโรปด้านปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI สนับสนุนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม

ในช่วงท้าย นายกรัฐมนตรีเสนอให้อาเซียนมีส่วนเกื้อกูลการผลิตสินค้า EU ซึ่งจะช่วยสนับสนุน FTA ไทย-EU เป็นแนวทางสำหรับเจรจา FTA ASEAN-EU นายกรัฐมนตรีได้กล่าวทิ้งท้ายว่า AEAN -EU สามาถร่วมกันสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกแก่โลกได้

​นายกฯ ร่วมในพิธีลงนามร่างกรอบความตกลง PCA EU-Thai ยกระดับความร่วมมือไทย-อียู ให้ใกล้ชิด เข้มข้น เป็นระบบ

เวลา 17.15 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงบรัสเซลส์) ณ อาคารยูโรปา กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม  พลเอก ประยุทธ์ พร้อมด้วย นายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และผู้นำฝ่ายสหภาพยุโรป ได้แก่ นายชาร์ล มิเชล ประธานคณะมนตรียุโรป นางอัวร์ซูลา ฟ็อน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป นายเป็ตร์ ฟียาลา นายกรัฐมนตรีเช็ก ในฐานะประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป และนาย Josep Borrell Fontelles รองประธานคณะกรรมาธิการยุโรปและผู้แทนระดับสูงของสหภาพยุโรป ด้านการต่างประเทศและนโยบายความมั่นคง ร่วมในพิธีลงนามร่างกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้านระหว่างสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกฝ่ายหนึ่งกับราชอาณาจักรไทยอีกฝ่ายหนึ่ง (Framework Agreement on Comprehensive Partnership and Cooperation between the European Union and its Member States, of the one part, and the Kingdom of Thailand, of the other part) หรือ PCA EU-Thai

โดยร่างกรอบความตกลง PCA นี้ จะช่วยยกระดับความร่วมมือไทย-อียู ให้ใกล้ชิด เข้มข้น และเป็นระบบมากขึ้น รวมทั้ง สร้างกลไกการหารือรอบด้านระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในประเด็นที่สนใจร่วมกัน  

สำหรับผลประโยชน์ต่อไทยจาก PCA มีดังนี้ 
(1) เพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจของไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลและกระแสการพัฒนาของโลก เป็นพื้นฐานสำคัญที่จะนำไปสู่การเปิดเจรจา FTA ไทย-EU รอบใหม่ 
(2) เพิ่มการถ่ายทอดองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศจาก EU และการเข้าถึงเงินทุนวิจัยและโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถต่าง ๆ ของ EU
(3) เป็นโอกาสให้ไทยได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวปฏิบัติที่เป็นเลิศในด้านที่ไทยเชี่ยวชาญ เช่น การประกันสุขภาพถ้วนหน้า
(4) สะท้อนว่า ไทยเป็นหุ้นส่วนที่ใกล้ชิดและไว้ใจได้ของ EU ผ่านการยึดถือค่านิยมที่เป็นสากลร่วมกัน
(5) สองฝ่ายมุ่งหวังให้ PCA เป็นเอกสารความตกลงที่มีการนำไปปฏิบัติจริงให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม และไทยมุ่งที่จะให้การดำเนินการตามร่างกรอบความตกลงนี้เพื่อให้เป็นก้าวแรกของการยกระดับความสัมพันธ์ไทย-อียู ไปสู่ความเป็น “หุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์” ระหว่างกันต่อไป

ทั้งนี้ ร่างกรอบความตกลงฯ ประกอบด้วย 64 ข้อ ส่วนอารัมภบท และส่วนปฏิญญาร่วมครอบคลุมความร่วมมือไทย-สหภาพยุโรป ทั้งในระดับทวิภาคี ภูมิภาค และระหว่างประเทศ ในประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นแผนงานที่กำหนดทิศทางความสัมพันธ์ มุ่งเพิ่มพูนกรอบการหารือและความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมระหว่างกัน โดยสองฝ่ายสามารถร่วมกันพัฒนาแผนงานดังกล่าวได้อย่างต่อเนื่องต่อไป

นายกฯ ไทย-ฮังการี พร้อมสานต่อความร่วมมือรอบด้าน ส่งเสริมการค้าการลงทุนพัฒนาธุรกิจด้านการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

เวลา 17.45 น.ณ อาคาร Europa กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยี่ยม พลเอกประยุทธ์ หารือทวิภาคีกับนายวิคเตอร์ ออร์บาน (H.E. Mr. Viktor Orbán) นายกรัฐมนตรีฮังการีมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

นายกรัฐมนตรียินดีที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับฮังการีราบรื่นมาโดยตลอด และจะครบรอบ 50 ปี ในปี 2566 โดยขอบคุณรัฐบาลฮังการีที่ให้การสนับสนุนประเทศไทยในกรอบสหภาพยุโรปมาโดยตลอด โดยเฉพาะการเจรจาความตกลง PCA ระหว่างไทยกับ EU จนทำให้สามารถลงนามได้ ซึ่งไทยพร้อมที่จะสนับสนุนฮังการีในเวทีระหว่างประเทศในประเด็นที่ฮังการีให้ความสำคัญ โดยเฉพาะค่านิยมการยึดครอบครัวเป็นศูนย์กลาง พร้อมกันนี้ พร้อมร่วมมือกับฮังการีในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพ เช่น ด้านการสาธารณสุข การพัฒนาประเทศในยุคหลังโควิด-19 การค้าการลงทุน การศึกษา

นายกรัฐมนตรีฮังการียินดีที่ได้พบหารือกับนายกรัฐมนตรีไทย ชื่นชมความสัมพันธ์ไทย-ฮังการี ที่เป็นไปอย่างแน่นแฟ้น และเชื่อมั่นว่าไทยและฮังการีจะสามารถต่อยอดความร่วมมือในสาขาที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพได้อีกมาก ชื่นชมพัฒนาการของไทย ตลอดจนบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศในช่วงเวลาที่ผ่านมา ที่เป็นไปอย่างกระตือรือร้น และสร้างสรรค์

โอกาสนี้ ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงประเด็นต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่
ด้านความสัมพันธ์ทวิภาคี ทั้งสองฝ่ายยินดีที่ความร่วมมือครอบคลุมสาขาที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน โดยมีกลไกขับเคลื่อนที่สำคัญ ได้แก่ คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำ คณะทำงานร่วมด้านเกษตร คณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเชื่อว่า กลไกดังกล่าวจะช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเจริญเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยไทยยินดีที่จะเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญกับฮังการีในบริบทดังกล่าว

ด้านการค้าการลงทุน ไทยเน้นย้ำความสำคัญของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐสัมพันธ์ โดยภาครัฐมีหน้าที่สร้างบรรยากาศที่เหมาะสมต่อการค้าการลงทุน และเชิญชวนให้ฮังการีลงทุนในไทย โดยเฉพาะเขต EEC ซึ่งไทยเสนอให้ลงทุนในธุรกิจด้านการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ ยานยนต์ และเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ฮังการีเชี่ยวชาญ ซี่งฝ่ายฮังการียืนยันให้การสนับสนุนการขยายการลงทุน

ด้านสิ่งแวดล้อม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ไทยสนับสนุนพลังงานสะอาดและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งไทยเริ่มขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในประเทศให้ผลิตจากพลังงานสะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยล่าสุดไทยได้ร่วมกับสมาชิก APEC ลดอัตราภาษีนำเข้าสินค้าดังกล่าวจำนวน 54 รายการให้กับทุกประเทศ จึงขอเชิญชวนสหภาพยุโรปใช้ประโยชน์ เพื่อให้สอดคล้องกับความมั่นคงทางอาหารและนโยบายสีเขียวของสหภาพยุโรป ส่วนฮังการีชื่นชมบทบาทของไทยในประเด็นความท้าทายระหว่างประเทศเพื่อความยั่งยืนร่วมกัน

ด้านการศึกษา นายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณฮังการีที่มอบทุนการศึกษาระดับปริญญาให้นักศึกษาไทยปีละ 40 ทุน ในโครงการ Stipendium Hungaricum ตั้งแต่ปี 2561 ซึ่งไทยพร้อมที่จะขยายความร่วมมือด้านการศึกษากับฮังการีเพื่อเป็นประโยชน์ร่วมกันต่อไป