In News
กทม.ประชุมปัญหากลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ชี้ก่อสร้างรถไฟฟ้า6สายผลกระทบมากสุด
กทม.ลงพื้นที่ประชุมกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือหารือแนวทางแก้ปัญหาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทั้งสายสีชมพู สายสีแดง สายสีเขียว สายสีเหลือง และสายสีน้ำเงิน
(24 ก.ย.63) เวลา 14.30 น. นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ โดยมี นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสมศักดิ์ ชาติสุขศิริเดช ผู้ช่วยเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ สำนักการระบายน้ำ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สถานีตำรวจนครบาลท้องที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมประชุม ณ ห้องประชุมโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ ถนนพหลโยธิน เขตบางเขน
ในที่ประชุมกลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ 7 สำนักงานเขต ประกอบด้วย เขตจตุจักร เขตดอนเมือง เขตบางเขน เขตบางซื่อ เขตลาดพร้าว เขตสายไหม และเขตหลักสี่ ได้รายงานปัญหาและผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือ ได้แก่ สายสีชมพู สายสีแดง สายสีเขียว สายสีเหลือง และสายสีน้ำเงิน จากการตรวจสอบปัญหาส่วนใหญ่ที่พบจะเป็นปัญหาด้านการจราจร ปัญหาระบบระบายน้ำ ปัญหาด้านความปลอดภัย
อย่างไรก็ตามโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาดังกล่าว คือ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู และโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว สำหรับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัญหาด้านจราจรบนถนนรามอินทรา ถนนแจ้งวัฒนะ ถนนพหลโยธิน การจราจรติดขัดช่วงเวลาเร่งด่วน บริเวณถนนรามอินทราและถนนแจ้งวัฒนะ ทั้งขาเข้าและขาออก ต่อเนื่องบริเวณโดยรอบวงเวียนบางเขน ปัญหาคอขวดบริเวณถนนรามอินทรา ไปรษณีย์รามอินทรา และฝั่งทางเข้ากรมทหารราบที่ 11 เหลือ 2 ช่องจราจร บางช่วงเหลือ 1 ช่องจราจร ปัญหาการระบายน้ำ ปิดช่องรับน้ำตรงบริเวณต้นถนนแจ้งวัฒนะรอยต่อกับวงเวียนบางเขน ปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้สัญจรบนถนน ไม่ได้กั้นแบริเออร์ ให้มีความมั่นคงแข็งแรง ตลอดแนวช่วงถนนแจ้งวัฒนะ ปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้สัญจรทางเท้า ทางเดินมีความกว้างไม่เพียงพอ ปัญหาผิวจราจรบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้าใกล้วงเวียน ปากซอยแจ้งวัฒนะ 2 ผิวแตกร้าว ทรุดตัว ปัญหาด้านความปลอดภัยของผู้สัญจรทางเท้า บริเวณถนนแจ้งวัฒนะฝั่งขาเข้า ตรงข้ามมหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เหล็กฐานเสาไฟฟ้ายังไม่ได้รื้อถอน ที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขผิวจราจรที่ชำรุดบริเวณถนนรามอินทราช่วงปลายสะพานยกระดับวงเวียนบางเขน
ส่วนโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่งผลกระทบ ดังนี้ ปัญหาด้านการระบายน้ำ ตรงบริเวณซอยแยก ซึ่งพื้นผิวซอยแยกจะมีระดับต่ำกว่าผิวจราจรบนถนนพหลโยธิน ทำให้เกิดน้ำท่วมขังช่วงเวลาฝนตก การแก้ไขปัญหาในเบื้องต้น จะสกัดยางแอสฟัลท์ เพื่อให้น้ำลงไปสู่ช่องรับน้ำที่อยู่ใกล้เคียง ปัญหาทางเดินสะพานลอยคนข้าม มีชานพักของสกายวอล์คมาขวางระดับสูงกว่าทางเดินสะพานลอย ทำให้ทางเดินสะพานลอยมีระดับต่างกัน การแก้ไขให้ตัดชานพักเหลือเพียงครึ่งหนึ่ง จะได้เดินสะดวกขึ้น ซึ่งมี 2 สถานี คือสถานีราบ 11 และสถานีซอยสายหยุด ปัญหาฝาบ่อพักขององค์การโทรศัพท์ และของการไฟฟ้ายังไม่ได้ยกระดับเท่าผิวจราจร บางแห่งฝาบ่อพักเปิดออกมา ที่ผ่านมาสำนักการระบายน้ำได้นำแผ่นเหล็กมาปิดเป็นการชั่วคราว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ และประสานผู้รับจ้าง ทำการแก้ไขในเบื้องต้น
ทั้งนี้ทาง รฟม. ได้ทำการก่อสร้างเพื่อทดแทนของเดิม ได้แก่ บริเวณสำนักงานเขตบางเขน รวมทั้งปรับปรุงภูมิทัศน์สวนหย่อม การก่อสร้างรั้วทดแทนของเดิม บริเวณสถานีดับเพลิงบางเขน การก่อสร้างรั้วเรือนพยาบาล เสาธง หอพระ ป้อมยาม ทดแทนของเดิม บริเวณโรงเรียนไทยนิยมสงเคราะห์ ทั้งนี้ในที่ประชุมได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กลุ่มเขตกรุงเทพเหนือให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และเกิดประสิทธิผลต่อประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนและผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวอย่างแท้จริง