In Global
เข้าใจความเชื่อเกี่ยวกับ'เทพเจ้าจีน'ผ่าน หนังสือ'เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ'
หนังสือ “เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ” เป็นผลงานเขียนของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญเรื่องศิลปะจีน
เนื้อหาในหนังสือ “เทพเจ้าจีนในกรุงเทพ” มาจากการศึกษาวิจัยเรื่องประติมากรรมเทพเจ้าจีนในศาลเจ้าที่อยู่ในกรุงเทพฯ 129 แห่ง ตั้งแต่ศาลเจ้าที่เก่าแก่ที่สุดในสมัยธนบุรีจนถึงศาลเจ้าที่สร้างขึ้นในปัจจุบัน
ผู้ช่วยศาตราจารย์ ดร. อชิรัชญ์ได้ศึกษาพื้นฐานความเชื่อของชาวจีน หลักฐานความเชื่อของชาวจีนในกรุงเทพฯ และรูปแบบประติมากรรมเทพเจ้าในศาลเจ้าจีน กรุงเทพฯ ซึ่งมีข้อค้นพบที่น่าสนใจเรื่อง ทั้งเรื่องรูปแบบประติมากรรมที่แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาวจีน รูปแบบประติมากรรมที่แสดงถึงความสัมพันธ์กับศิลปะไทย เอกลักษณ์ความเชื่อของชาวจีนอพยพในกรุงเทพฯ ที่สะท้อนผ่านเทพเจ้าประธาน การบูชาเทพเจ้าที่สัมพันธ์กับความเชื่อแต่ละกลุ่มภาษา ได้แก่ ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวจีนไหหลำ ชาวจีนแคะ และความเชื่อเรื่องเทพเจ้าที่ปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อชิรัชญ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ข้อค้นพบจากการศึกษาประติมากรรมเทพเจ้าในศาลเจ้าจีน มี 2 ประเด็น คือ รูปแบบของประติมากรรม และความเชื่อของชาวจีน โดยอาจารย์อธิบายว่า
ในแง่รูปแบบ สามารถพบประติมากรรมตามความเชื่อชาวจีนแต่ละกลุ่มภาษา เช่น ประติมากรรมแต้จิ๋ว ฐานประติมากรรมเป็นฐานดำ เขียนลายดอกไม้ขาว ลักษณะประติมากรรมโครงหน้าไม่ได้เป็นมิตินัก ขณะที่ประติมากรรมฮกเกี้ยน จะเห็นการแกะสลักเค้าโครงหน้า เช่น ดวงตามีความนูนมากกว่าประติมากรรมแต้จิ๋ว ฐานประติมากรรมเป็นสีดำล้วน ไม่ทำเป็นลายดอกไม้ขาว
ซึ่งประติมากรรมเทพเจ้าจีนที่พบในศาลเจ้าหลายแห่งก็สอดคล้องกับประวัติของศาลเจ้า เช่นศาลเจ้าพ่อกวนอู ที่ถนนสมเด็จเจ้าพระยา ตามประวัติผู้ก่อสร้างคือชาวจีนฮกเกี้ยน ตอนศึกษาสถาปัตยกรรมก็เห็นร่องรอยความเป็นฮกเกี้ยน เมื่อศึกษาเชิงประติมากรรม ก็เห็นความเป็นประติมากรรมฮกเกี้ยนของเทพเจ้ากวนอูองค์แรกในศาล เช่นฐานไม่ได้เขียนเป็นลายขาวเหมือนของประติมากรรมแต้จิ๋ว หรือ การนั่งของเทพเจ้าที่ดูไม่สมมาตร คือจะนั่งดูธรรมชาติมากกว่าประติมากรรมอื่น หรือการแกะสลักสิงโตใต้เท้าของตัวประติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์
นอกจากนี้ งานศิลปกรรมยังสะท้อนวิถีความคิดของคน วัฒนธรรมดั้งเดิมของคนจีน 5 กลุ่มภาษา เช่น ศาลเจ้าถึงจะสร้างใหญ่ แต่ประติมากรรมมีขนาดเล็ก สูงประมาณ 1 ฟุต ดังนั้นพอชาวจีนอพยพมาที่ไทย แล้วมาสร้างศาลเจ้า ก็ยังติดกับความคุ้นเคยเดิมคือประติมากรรมจะมีขนาดเล็กมาก
พอเวลาผ่านไปมีความนิยมใหม่เกิดขึ้น เช่น ประติมากรรมเทพเจ้าช่วงสมัยรัชกาลที่ 8-9 จะเห็นประติมากรรมที่มีความสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนปัจจุบันมีการสร้างสูง 3 เมตร ทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลง และมีหลักฐานทำให้พอเข้าใจความคิดของผู้สร้าง เช่นสถานะทางสังคมที่ร่ำรวยขึ้น หรือกระแสสังคมในไทย ที่เราเคยได้ยินว่า ต้องใหญ่ที่สุดในโลก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือในยุคแรก ปกติจะใช้ไม้แกะสลักท่อนเดียวไม่ได้มีการแบ่งชิ้น แกะเป็นหัว ตัว ฐาน แต่สมัยหลังจะมีวัสดุใหม่ เช่น เซรามิก หรืองานหล่อโลหะ ทำให้เห็นเรื่องความเข้าถึงง่ายของวัสดุ พอผลิตง่ายขึ้น ราคาถูกกว่า ผู้สร้างก็จะหันมาใช้เซรามิกหรืองานหล่อโลหะแทนงานไม้ที่อาจจะแพงกว่า ยุ่งยากกว่า งานไม้ก็เริ่มหมดความนิยมไป
นอกจากนี้ ประติมากรรมเทพเจ้าในศาลเจ้า ยังสะท้อนเรื่องความเชื่อ ความเป็นตัวตนของกลุ่มภาษา ประธานของศาลจะบ่งบอกผู้อุปถัมภ์ได้ชัดเจนที่สุด เช่น คนแต้จิ๋วจะมีเทพเฉพาะคนแต้จิ๋ว คนไหหลำก็มีเทพเฉพาะของชาวไหหลำ เช่น ตัวขององค์เทพเจ้าศาลเจ้าแม่ทับทิม ที่สะพานซังฮี้ ซึ่งเป็นเทพเจ้าเจ้าแม่เฉพาะไหหลำที่เกี่ยวข้องกับการเดินเรือ ซึ่งจีนกลุ่มอื่นจะไม่ได้บูชาเทพองค์นี้ หรือ กลุ่มฮกเกี้ยน จะบูชาเทพโจวซือกง ก็จะเฉเพราะโดยประวัติท่านเป็นพระ ช่วยเหลือชาวบ้าน ซึ่งพื้นที่ที่ท่านช่วยเหลืออยู่ภาคใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน ก็มีความสัมพันธ์กัน
นี่คือ ส่วนหนึ่งในเนื้อหาหนังสือ “เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ” ที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อชิรัชญ์ ไชยพจน์พานิช ได้เขียนเรื่องหนังสือเล่มนี้ด้วยความตั้งใจอยากให้ผู้อ่านได้เข้าใจชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่ในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
--------------------------------------
บทความ : ประวีณมัย บ่ายคล้อย
ภาพ : หนังสือ เทพเจ้าจีนในกรุงเทพฯ สำนักพิมพ์มติชน