In News
ศาลยุติธรรมอธิบายฟ้องคดีเบี้ยผู้สูงอายุ ชี้เป็นคดีแพ่งไม่ติดคุก-ไม่เป็นภาษีมรดก
กรุงเทพฯ-โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายหลักกฎหมายคลายสงสัยฟ้องคดีเรียกเงินคืนเบี้ยผู้สูงอายุ เป็นคดีแพ่งไร้โทษจำคุก หากถูกฟ้องขอไกล่เกลี่ยชั้นศาลได้ไม่เสียค่าใช้จ่าย มีนิติกรช่วยแจงขั้นตอน
จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการตรวจสอบและเรียกคืนเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยหน่วยงานของทางราชการหลายรายในหลายพื้นที่ และมีบางส่วนได้นำคดียื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมที่มีเขตอำนาจไปบ้างแล้ว ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุและครอบครัวเกิดความกังวลต่อการถูกฟ้องคดี นั้น
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.64 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายถึงขั้นตอนทางกฎหมายกรณีนี้ว่า การฟ้องคดีลักษณะตามที่เป็นข่าวนั้นเป็นการฟ้องคดีทางแพ่ง ซึ่งเป็นการโต้แย้งสิทธิกันระหว่างคู่ความ 2 ฝ่าย โดยลักษณะของคดีแพ่งทั่วไปเมื่อคู่ความยื่นฟ้องเพราะถูกโต้แย้งสิทธิหรือต้องการจะใช้สิทธิทางศาลตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การฟ้องขับไล่ การฟ้องเรียกเงินหรือทรัพย์สินคืน การฟ้องให้รับผิดตามสัญญา เป็นต้น เพื่อให้ศาลบังคับให้ ซึ่งการฟ้องคดีแพ่งนี้การบังคับคดีจะเป็นเรื่องการบังคับเอาที่ตัวทรัพย์สินหรือให้ฝ่ายจำเลยกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอะไรบางอย่างโดยไม่มีโทษจำคุกซึ่งจะแตกต่างจากการฟ้องคดีอาญาที่จะเป็นการฟ้องเพื่อให้จำเลยที่กระทำผิดกฎหมายได้รับโทษทางอาญาเช่น จำคุก เป็นต้น
ดังนั้นจากกรณีที่เกิดขึ้นในการฟ้องคดีกับผู้สูงอายุเรื่องเบี้ยยังชีพนี้ ขอให้ทุกคนได้เข้าใจว่า เป็นการฟ้องคดีที่ไม่มีผลทางกฎหมายเป็นโทษจำคุกที่จะนำมาใช้กับลูกหนี้ได้เพราะไม่ใช่การฟ้องคดีอาญา แต่เป็นการฟ้องคดีทางแพ่งที่มีวัตถุประสงค์ในการฟ้องเพื่อเรียกคืนเงินจากผู้สูงอายุที่เรียกว่าลูกหนี้ที่ถูกกล่าวหาว่าได้รับเงินไปโดยผิดหลักเกณฑ์ อย่างไรก็ดีเมื่อมีการฟ้องคดีแล้วผู้สูงอายุได้รับหมายศาลก็ไม่ต้องตกใจ หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อสอบถามศาลตามที่ระบุในหมายนั้นถึงขั้นตอนที่ต้องปฏิบัติเมื่อจะต้องมาศาลได้ ซึ่งแต่ละศาลจะมีนิติกรช่วยอธิบายสร้างความเข้าใจในขั้นตอนของการดำเนินคดี อีกทั้งคดีที่ปรากฏเป็นข่าวก็ยังอยู่ในขั้นของการยื่นฟ้องคดี ซึ่งยังไม่อาจทราบได้ว่าสุดท้ายแล้วจากพยานหลักฐานและหลักกฎหมาย ศาลจะมีคำพิพากษาว่าอย่างไร
สำหรับประเด็นที่ครอบครัวผู้สูงอายุเกิดความกังวลว่าหนี้สินที่เกิดเป็นคดีฟ้องกันนั้น จะกลายเป็นหนี้มรดกตกแก่ทายาทที่จะต้องรับชดใช้เงินคืนแทนหรือไม่นั้น ตามกฎหมายแล้วแม้ศาลตัดสินให้ต้องรับผิดคืนเงินหากลูกหนี้ถึงแก่ความตาย หนี้นั้นจะตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาท แต่ทายาทนั้นไม่ต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน หมายความว่ามรดกมีเท่าไหร่ก็บังคับชำระหนี้ตามกฎหมายได้เท่านั้น ไม่อาจนำทรัพย์สินส่วนตัวของทายาทมาชดใช้หนี้ได้ หากทายาทนั้นไม่ได้เป็นลูกหนี้ร่วมด้วย
อย่างไรก็ดีประเด็นที่อยากจะฝากถึงประชาชนที่ถูกฟ้องในคดีแพ่งลักษณะเช่นนี้ว่าในกระบวนการยุติธรรมของศาล มีระบบการระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ย ซึ่งปัจจุบันศาลยุติธรรมมีทั้งขั้นตอนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีตามกฎหมายใหม่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 20 ตรี ซึ่งกรณีนี้หากคนใดได้รับจดหมายให้คืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุก็สามารถติดต่อที่ศาลในพื้นที่ขอใช้บริการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้ ไม่จำเป็นต้องรอให้ทางการฟ้องร้องเข้ามาก่อน ซึ่งหากศาลสอบถามแล้วคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่งประสงค์จะไกล่เกลี่ย ศาลก็จะดำเนินการนัดทั้งสองฝ่ายมาเจรจากันด้วยความสมัครใจและถ้าตกลงกันได้ข้อพิพาทก็จะยุติ
แต่หากมีการฟ้องร้องกันเข้ามาแล้ว ก็ยังมีการไกล่เกลี่ยหลังฟ้องอีกระบบหนึ่ง ซึ่งคู่ความทั้งสองฝ่ายสามารถแสดงความประสงค์ที่จะขอให้ดำเนินการไกล่เกลี่ยได้ด้วยความสมัครใจเช่นกัน อีกทั้งยังสามารถใช้ระบบการไกล่เกลี่ยออนไลน์ เช่น ไกล่เกลี่ยผ่าน โทรศัพท์ วีดิโอคอล หรือระบบไลน์ ได้อีกด้วย
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอธิบายอีกว่า การใช้สิทธิทางศาลในคดีแพ่งเป็นเรื่องของคู่ความว่าประสงค์จะนำคดีมาสู่ศาลหรือไม่ หากมีการฟ้องเป็นคดีแล้ว ศาลยุติธรรมจะอำนวยความยุติธรรมให้แก่คู่ความทั้งสองฝ่ายอย่างเต็มที่ ไม่ว่าคู่พิพาทหรือคู่ความนั้นจะเป็นใคร อีกทั้งหากคู่ความมีข้อสงสัยในขั้นตอนการปฏิบัติสามารถติดต่อสอบถามจากนิติกรประจำศาลในพื้นที่นั้น ๆ ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ และคู่ความยังสามารถแสดงความประสงค์เพื่อขอไกล่เกลี่ยได้โดยอาจยังไม่จำเป็นต้องแต่งทนายความเข้าสู้คดีกันในศาล ซึ่งแต่ละศาลจะมีคณะผู้ไกล่เกลี่ยปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเป็นกลาง ดำเนินการไกล่เกลี่ยจนข้อพิพาทสามารถระงับลงได้ด้วยความพึงพอใจของทั้งสองฝ่าย