In News

ไฟเขียวแผนดำเนินงานในงบฯ973.48ล. ร่วมงานExpo 2025 Osaka Kansai



กรุงเทพฯ-ครม.เห็นชอบแผนดำเนินงานและกรอบงบประมาณ 973.48 ล้านบาท สำหรับการเข้าร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai ที่ประเทศญี่ปุ่นของประเทศไทย

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) วันที่ 20 ธ.ค. 2565  ได้เห็นชอบแผนการดำเนินงานและกรอบงบประมาณ การจัดงาน Expo 2025 Osaka Kansai ณ นครโอซากา ประเทศญี่ปุ่น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

สำหรับสาระสำคัญในเรื่องนี้  ประเทศไทยมีกำหนดจะเข้าร่วมงาน Expo 2025 Osaka Kansai ระหว่างวันที่ 13 เม.ย. -13 ต.ค. 2568 รวมระยะเวลา 6 เดือน ณ เกาะยูเมะชิมะ นครโอซากา ซึ่งเป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลก หรือ World Expo ที่จัดขึ้นทุก 5 ปี ภายใต้การดูแลขององค์การนิทรรศการนานาชาติ(BIE) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นหน่วยงานหลักในการรับผิดชอบ เนื่องจากหัวข้อหลักของงานครั้งนี้เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข ซึ่งประเทศไทยจะดำเนินการภายใต้แนวคิด สร้างสรรค์ชีวิตเพื่อความสุขที่ยิ่งใหญ่ (THAILAND Empowering Lives for Greatest Happiness)

ทั้งนี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 8 ครั้ง และสรุปรูปแบบการจัดนิทรรศการ แผนงานและกรอบวงเงินงบประมาณเพื่อเสนอให้ ครม.อนุมัติในครั้งนี้  โดยในส่วนของรูปแบบการจัดนิทรรศการ ประเทศไทยจะจัดแสดงศาลาไทย (Thailand Pavilion) ซึ่งเป็นอาคารทรงไทยชื่อว่า วิมานไทย (VIMAN THAI) ดำเนินการจัดแสดงทั้งแบบออนไซต์และออนไลน์ นำศิลปะชั้นสูงมาใช้ในการออกแบบอาคารการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ รักษาความปลอดภัย ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เน้นใช้พลังงานหมุนเวียน และพลังงานสะอาด

ศาลาไทยจะจัดแสดงบนพื้นที่ A13 โซน Connecting Lives ขนาดพื้นที่ 3,500 ตารางเมตร ในรูปแบบ Type A Pavilion :Self-Built Pavilion ที่ผู้เข้าร่วมงานต้องก่อสร้างอาคารนิทรรศการเองตามผังผู้จัดงานและรับผิดชอบการรื้อถอน เคลื่อนย้ายอาคาร ปรับภูมิทัศน์ เมื่อเสร็จสิ้นงาน  แบ่งการจัดแสดงออกเป็น 5 โซน โดยใช้ชื่อ S.M.I.L.E.ประกอบด้วย โซนที่1 S:SIAM จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย  โซนที่2 M:Medical Hub เป็นโซนไฮไลต์ของนิทรรศการ แสดงการเป็นศูนย์กลางการแพทย์นานาชาติ เป็นผู้นำด้านการผลิตวัคซีนแห่งหนึ่งของโลกและเน้นการจัดแสดงนวัตกรรมการแพทย์ของไทย เทคโนโลยีการจัดการทางสาธารณสุขและการรับมือกับวิกฤตโควิด19 

โซนที่3 I:Intelligence toward innovation แสดงเทคโนโลยีต่างๆ โดยเฉพาะศักยภาพการผลิตอาหารและสมุนไพร  โซนที่4 L:Living Lab จำลองวิถีไทยรูปแบบ Workshop และแบบเชิงพาณิชย์ด้านต่างๆ โดยเป็นกิจกรรมหมุนเวียนแต่ละสัปดาห์หรือเดือนไม่ซ้ำกัน  และโซนที่5 E:Enhanceand Enjoy our family แสดงความสัมพันธ์ระหว่างไทยและญี่ปุ่น(ประเทศเจ้าภาพ) ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันยาวนานกว่า 600 ปี

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  แผนการดำเนินงาน จะแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1.การเตรียมการเข้าร่วมงาน ซึ่งส่วนนี้หลังจาก ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วช่วงปี 2566  จะดำเนินการจัดจ้างผู้รับจ้างจัดงาน ยื่นแบบก่อสร้างและเซ็นสัญญาเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ประชุมกับ BIE ตามกำหนด  จากนั้นปี 2567 จะเป็นช่วงการก่อสร้าง Thailand Pavilion ให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2567 และเริ่มเผยแพร่สื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ 2.ระยะดำเนินการเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ในปี 2568 และ 3.ระยะหลังดำเนินการเข้าร่วมจัดนิทรรศการ ในปี 2569 ที่จะดำเนินการื้อถอน Thailand Pavilion และขนส่งวัสดุจัดแสดงกลับประเทศไทย

สำหรับกรอบงบประมาณจะใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2566-2569 รวม 4 ปี รวม 973.48 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการบริหารและเตรียมงานรวม 105.60 ล้านบาท และสำหรับดำเนินการจัดงานนิทรรศการ รวม 867.88 ล้านบาท  โดยหากแยกเป็นการใช้จ่ายงบประมาณรายปีจำแนกเป็นปี 2566 จำนวน 89.64 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 331.31 ล้านบาท ปี 2568 จำนวน 507.61 ล้านบาท และ ปี 2569 จำนวน 44.91 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า  การเข้าร่วมจัดแสดงนิทรรศการในงาน Expo 2025 Osaka Kansai ถือเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ Medical Hub ในภูมิภาค บนเวทีโลก  ส่งเสริมความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับนานาประเทศ เปิดโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการแพทย์กับนานาชาติ การขยายตลาดอุตสาหกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ให้ผู้ประกอบการไทย ส่งเสริมเศรษฐกิจไทยให้เติบโตในอนาคต