In News

กทม.จับมือ​SOS/VV Shareเตรียมพร้อม 10เขตนำร่อง​BKK Food Bank



กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯศานนท์ ประชุมชี้แจงโครางการพัฒนาต้นแบบBKK Food Bank  โดยกทม.จับมือ​ SOS และ​ VV Share เตรียมพร้อม 10 เขตนำร่อง​ BKK Food Bank ส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม​

(20 ธ.ค.65)​ เวลา​ 13.00 น.​ นายศานนท์​ หวังสร้างบุญ​ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร​เป็นประธานการประชุมชี้แจงโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม​ ครั้งที่ 1/2565 โดยมี​ผู้บริหารสำนักพัฒนาสังคม​ ผู้บริหารเขตนำร่อง​ 10 เขต​ ผู้แทนมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย (Scholars of Sustenance Thailand: SOS Thailand) ผู้แทนมูลนิธิวีวี แชร์​ (VV Share Foundation) และผู้ที่เกี่ยวข้อง​ ร่วมประชุม ณ ห้องสุทัศน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร เขตพระนคร

ที่ประชุมได้มีมติสรุปแนวทางการดำเนินงานโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม ปี 2566 โดยดำเนินการร่วมกับมูลนิธิ
สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ และ​มูลนิธิวีวี แชร์ ร่วมกับผู้เข้าร่วมดำเนินการนำร่อง จำนวน​ 10 สำนักงานเขต ประกอบด้วย เขตบางแค เขตภาษีเจริญ เขตบางกอกน้อย เขตบางขุนเทียน เขตบางพลัด เขตคลองสาน เขตพระโขนง เขตคลองเตย เขตลาดกระบัง และเขตประเวศ​  โดยสำนักงานเขตนำร่องดำเนินการ ดังนี้​ 1. แต่งตั้งคณะทำงานดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม 2. ดำเนินงานตามโครงการฯ โดยมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ดำเนินงานร่วมกับ 6 สำนักงานเขต คือ​ เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตบางกอกน้อย เขตคลองสาน เขตบางขุนเทียน​ และเขตบางพลัด​ ส่วนมูลนิธิวีวี แชร์ ดำเนินการร่วมกับ 4 สำนักงานเขต คือ เขตลาดกระบัง เขตพระโขนง เขตประเวศ และเขตคลองเตย 

สำหรับ​มูลนิธิวีวี แชร์ (VV Share) ดำเนินการ​ ดังนี้​ 1. ทำการเปิดบัญชีให้กับเจ้าหน้าที่ของกทม.จาก 4 เขต เพื่อเข้าทำรายการผ่าน VV Share Application พร้อมทำการสอนวิธีการใช้งานอย่างละเอียด​ 2. ในทุกวันทำงานจะมีการประสานงานระหว่างผู้บริจาค มูลนิธิวีวี แชร์ และกทม. โดยเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ จะเป็นผู้สร้างรายการเข้ารับบริจาคอาหารในแต่ละวันตามสาขาที่แจ้งความประสงค์ในการบริจาค​ 3. เจ้าหน้าที่ของกทม.เข้ารับบริจาคอาหาร โดยต้องลงข้อมูลใน VV Share Application เมื่อถึงแต่ละสาขา พร้อมทำการถ่ายรูปและให้เจ้าหน้าที่แต่ละสาขาเซ็นใน VV Share Application เพื่อเป็นการยืนยันข้อมูลในการรับบริจาคอาหาร 4. ก่อนการนำอาหารส่งต่อกลุ่มเป้าหมาย ให้เจ้าหน้าที่กทม. ทำการชั่งน้ำหนักและลงรายละเอียดประเภทอาหาร แบ่งเป็น 4 ประเภท คือ กลุ่มทานรองท้อง (kg) กลุ่มสลัดผักผลไม้ (kg) กลุ่มข้าวและพร้อมทาน (kg) และอาหารกล่อง Chef Cares (กล่อง) และใส่ข้อมูลทั้งหมดลงใน VV Share  Application โดยมีขั้นตอนสุดท้ายคือการลงชื่อปิดงานของเจ้าหน้าที่กทม.​ 5. การรายงานปริมาณอาหารที่เข้ารับบริจาค เจ้าหน้าที่ของกทม.สามารถเข้าดูรายงานได้แบบ real-time โดยใช้อีเมล์เพื่อให้มูลนิธิฯ เพิ่มสิทธิในการเข้าดูรายงานได้ หรือจะให้เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิทำการส่งรายการผ่านทางอีเมลก็ได้เช่นกัน 

ในส่วนของมูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ (SOS) ดำเนินการ​ ดังนี้​ 1. มูลนิธิ SOS รับข้อมูลผู้บริจาคที่ลงทะเบียนผ่าน Cloud Food Bank และบันทึกไว้ใน Google Sheet กลาง เพื่อให้ทางสำนักพัฒนาสังคม สื่อสารแผนการทำงานและรับอาหารจุดต่าง ๆ ให้กับสำนักงานเขตนำร่อง จำนวน 10 เขต โดยระบุข้อมูล เช่น ชื่อผู้บริจาค ที่อยู่ เบอร์ติดต่อ ประเภทอาหาร​ ปริมาณอาหาร เป็นต้น 2. สำนักพัฒนาสังคม ส่งข้อมูลต่อให้แต่ละเขตเพื่อสร้างแผนงานในแต่ละวัน (ปฏิบัติงานทุกวัน อังคาร พุธ พฤหัสบดี) โดยเจ้าหน้าที่เขตที่ได้รับมอบหมายจะต้องวางแผนการดำเนินงานและเข้ารับตามแผนที่กำหนดไว้ 3. ณ จุดรับอาหารส่วนเกิน เจ้าหน้าที่เขตที่ได้รับมอบหมายให้ทำงานรับอาหารตามจุดรับอาหาร จะต้องบันทึกน้ำหนักลงใน Google Form ที่ทางมูลนิธิ SOS ได้จัดทำไว้ให้ โดยจะต้องบันทึกรายละเอียดทั้งหมด คือ บันทึก​ 1 ครั้ง ต่อ 1 ผู้บริจาค และ 1 ประเภทอาหาร เมื่อส่งมอบผู้รับบริจาคแล้ว จะต้องบันทึกให้แล้วเสร็จในทุก ๆ วันของการทำงาน ซึ่งทางสำนักงานเขตสามารถจดบันทึกข้อมูลอาหารส่วนเกินที่ได้รับไว้ในกระดาษหรือฟอร์มใด ๆ ก่อนได้ ก่อนจะบันทึกน้ำหนักลง Google Form 4. ทางมูลนิธิ SOS จะนำข้อมูลจาก Google Form ไปจัดระเบียบ ประมวลผล ให้ถูกต้องและสามารถใช้งานต่อได้ 5. ทางมูลนิธิ SOS จะส่งข้อมูลสรุปรวมการทำงานของ BKK Food Bank ใน 6 เขตนำร่องให้กับสำนักพัฒนาสังคมทุกสิ้นเดือน เพื่อรายงานผู้บริหารกรุงเทพมหานครทราบต่อไป

นอกจากนี้​ ได้กำหนดวันลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรมในวันศุกร์ที่ 23 ธ.ค. 65 เวลา 09.00 -​10.00 น. ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) จากนั้นฝึกอบรมให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ผู้ดำเนินโครงการพัฒนาต้นแบบ​ BKK Food Bank ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม​ โดยมูลนิธิ​สโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย และมูลนิธิวีวี แชร์ เป็นผู้อบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ที่ได้รับมอบหมาย เขตละ 3 คน รวม 30 คน อีกด้วย

ทั้งนี้​ โครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank (ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม) เป็น 1 ในนโยบาย 216 แผนปฏิบัติการ มิติด้านสิ่งแวดล้อมดีและบริหารจัดการดี ของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ด้วยการพัฒนาสร้างกลไกส่งต่อความช่วยเหลือ สู่กลุ่มเปราะบางหรือผู้ที่ต้องการอย่างเป็นรูปธรรมและเป็นการสร้างความมั่งคงทางอาหาร (Food security) ให้แก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง โดยมีการบูรณาการการทำงาน
ร่วมกันหลายภาคส่วน อาทิ สำนักงานเขตเจ้าของพื้นที่ ผู้ประกอบการที่บริจาคอาหารส่วนเกิน องค์กรเอกชนที่ทำงานด้านการส่งต่ออาหารส่วนเกินให้กับกลุ่มเปราะบางในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ที่เป็นภาคีเครือข่ายทำงานกับกรุงเทพมหานครในโครงการพัฒนาต้นแบบ BKK Food Bank (ระบบส่งต่ออาหารให้กลุ่มเปราะบางอย่างเป็นรูปธรรม) เช่น มูลนิธิสโกลารส์ ออฟ ซัสทีแนนซ์ ประเทศไทย (Scholars of Sustenance Thailand: SOS Thailand) และมูลนิธิวีวี แชร์​ (VV Share Foundation)