In News

คกก.สุขภาพจิตฯไฟเขียวระบบดูแลผู้ป่วย SMI-Vและสิทธิประโยชน์วัยแรงงาน



นนทบุรี-คณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ เห็นชอบให้ใช้ระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรงแบบบูรณาการ หรือ SMI-V Care ครอบคลุมการค้นหา-ส่งต่อ-ดูแลต่อเนื่อง พร้อมรายงานผลทุก 6 เดือน เพื่อความปลอดภัยของสังคมบนพื้นฐานการเคารพข้อมูลส่วนบุคคลและสิทธิผู้ป่วย อีกทั้งเห็นชอบ 2 มาตรการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในสถานประกอบการ เพื่อสุขภาพจิตที่ดีของวัยแรงงาน

วันนี้ (22 ธันวาคม 2565) ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (นายอนุทิน ชาญวีรกูล) ได้รับมอบหมายจากรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพจิตแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2565 โดยมี แพทญ์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และคณะกรรมการจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุมทั้งรูปแบบออนไซต์และออนไลน์

นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการดูแลส่งเสริมสุขภาพจิตของคนไทย ตลอดจนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพจิตและยาเสพติด ป้องกันการเกิดพฤติกรรมรุนแรงในสังคม โดยการประชุมวันนี้ได้พิจารณาและเห็นชอบ 2 เรื่องสำคัญ ได้แก่ แนวทางการดำเนินงานระบบการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดที่มีความเสี่ยงสูงต่อการก่อความรุนแรง (SMI-V) ซึ่งพบว่า ผู้ก่อความรุนแรงประมาณ 3% เท่านั้น ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเวช โดยระบบนี้จะครอบคลุมการค้นหา การส่งต่อ และการดูแลต่อเนื่องในชุมชนแบบไร้รอยต่อ ผู้ป่วยที่อยู่ในชุมชนแต่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัย จะถูกค้นหาด้วย 5 สัญญาณเตือนก่อนส่งต่อเข้ารับการวินิจฉัย และดูแลต่อเนื่องด้วยทีมจัดการรายกรณี เพื่อป้องกันการกำเริบซ้ำ ทั้งนี้ ได้ขอให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่งผู้แทนเข้าร่วมทีมจัดการรายกรณีในทุกตำบล อีกทั้งเร่งพัฒนาระบบ EMS เฉพาะทางจิตเวชโดยเร็ว ตลอดจนมอบคณะอนุกรรมการประสานงานเพื่อบังคับใช้กฎหมายสุขภาพจิตระดับจังหวัด กำกับติดตามการขับเคลื่อนระบบ SMI-V Care ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบมาตรการขับเคลื่อนงานสุขภาพจิตในสถานประกอบการ โดยประสานให้กระทรวงแรงงานแก้กฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ.2548 กำหนดให้การตรวจสุขภาพประจำปี (การตรวจร่างกายและสภาวะจิตใจ) เป็นสวัสดิการที่กฎหมายกำหนด และสนับสนุนให้สถานประกอบการใช้ระบบ Mental Health Check-In ในการประเมินสุขภาพจิตอย่างน้อยปีละ1 ครั้ง เนื่องจากปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งระดับบุคคล องค์กร และส่งผลสืบเนื่องต่อศักยภาพในการแข่งขันของประเทศไทย นพ.เกียรติภูมิ กล่าว