In News
รัฐฯเดินหน้า'โคบาลจังหวัดชายแดนใต้' 'เฉลิมชัย'ให้กองทุนฯเกษตรกร1.5พันล.
กรุงเทพฯ-รัฐบาลเดินหน้าโครงการโคบาลจังหวัดชายแดนใต้ “เฉลิมชัย” ไฟเขียวเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 1.5 พันล้านบาท หนุนผลิตเนื้อวัวเกรดดีสู่ตลาดฮาลาล เกษตรกรกู้ปลอดดอกเบี้ย 7 ปี
วันที่ 26 ธันวาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกรรมการผู้แทนพิเศษของรัฐบาลในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ได้เห็นชอบ “โครงการโคบาลชายแดนใต้” ภายใต้กรอบระเบียงเศรษฐกิจฮาลาลจังหวัดชายแดนภาคใต้ ระยะ 7 ปี (พ.ศ. 2565 – 2571) โดยให้ใช้งบประมาณทั้งหมดจากการกู้ยืมจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร จำนวน 1.5 พันล้านบาท ซึ่งนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ทำหน้าที่เป็นหน่วยดำเนินการยืมเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรเพื่อขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนาอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อใน 5 จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) ส่งเสริมให้เกษตรกรเข้าถึงแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพ เพิ่มประสิทธิภาพการเลี้ยงโคของเกษตรกรสู่มาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ GFM/GAP เพิ่มปริมาณโคในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปรับปรุงสายพันธุ์โคเนื้อคุณภาพดีที่เป็นความต้องการของตลาด สร้างอาชีพที่เกี่ยวเนื่องในห่วงโซ่การผลิตโค และสร้างพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย
นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า นายเฉลิมชัยฯ ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจับหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) เร่งดำเนินการโครงการ คาดว่าจะเริ่มได้ทันทีในเดือน ม.ค. 2566 เมื่อครม.พิจารณาเห็นชอบ โดยตั้งเป้าหมาย มีกลุ่มวิสาหกิจโคไทยในหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการ 1,000 กลุ่ม เกษตรกร 10,000 ราย ได้แม่โคพื้นเมือง 50,000 ตัว (ในระยะเวลา 7 ปี) แบ่งเป็น ระยะนำร่อง 3,000 ตัว ระยะที่สอง 22,000 ตัว ระยะที่สาม 25,000 ตัว ซึ่งกลุ่มวิสาหกิจโคไทย สามารถกู้ยืมเงิน กลุ่มละไม่เกิน 1,550,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย สำหรับปีที่ 1 –3 ปลอดการชำระหนี้เงินต้น ปีที่ 4 –7 ชำระคืนเงินต้นร้อยละ 25 ต่อปี และปลอดดอกเบี้ย 7 ปี ขณะนี้มีกลุ่มวิสาหกิจสนใจจำนวนมาก ยื่นเรื่องของกู้โดยตรงจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรแล้ว 14 กลุ่ม จากปัตตานี 13 กลุ่ม นราธิวาส 1 กลุ่ม อาทิ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงโคบ้านสาวอฮูลู กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรชมรมเลี้ยงโคโลทู ทั้งนี้ กลุ่มเกษตรกรผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลได้ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่
มากไปกว่านั้น ภายใต้โครงการนี้ จะมีการจัดตั้งศูนย์ผลิตอาหารสัตว์ (Feed Center) จำนวน 3 แห่ง (จังหวัดปัตตานี สตูล และนราธิวาส) และจัดตั้งร้านตัดแต่ง แปรรูปและจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อโค (Butcher Shop) จำนวน 5 แห่ง ส่วนแผนการทำงานเริ่มด้วยการสนับสนุนการเลี้ยงแม่โคพันธุ์พื้นเมืองที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ในคอกกลางของหมู่บ้าน มีคณะกรรมการหมู่บ้านเป็นกลไกขับเคลื่อน รวมถึงมีการส่งเสริมอาชีพที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ กลุ่มปลูกพืชอาหารสัตว์ กลุ่มผลิตอาหารสัตว์ กลุ่มขุนโค กลุ่มแปรรูปเนื้อโค และกลุ่มจำหน่ายเนื้อโค
“รัฐบาลเชื่อมั่นว่าโครงการโคบาลชายแดนใต้ จะนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างรายได้แก่ชุมชนได้จริง เป็นการลดภาระเรื่องเงินลงทุนและการจ่ายค่าดอกเบี้ยในช่วงระยะเวลาที่โคเนื้อยังไม่ให้ผลผลิต รวมถึงเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรในอีกหลายกลุ่มในห่วงโซ่การผลิตโค การดำเนินการจะเป็นความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ระหว่างกระทรวงเกษตร ศอ.บต. และกลุ่มวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นการยกระดับมาตรฐานคุณภาพตามหลักสากล ขยายฐานการผลิตโคเนื้อให้เพียงพอต่อการบริโภคและการส่งออกไปยังประเทศมุสลิม” นางสาวรัชดา กล่าว