In News
ครม.เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ตั้งเป้าลดขนาดการขาดดุลมุ่งงบฯสมดุล
กรุงเทพฯ-ครม. เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง ตั้งเป้าลดขนาดการขาดดุล มุ่งสู่การจัดทำงบประมาณสมดุลในเวลาที่เหมาะสม พร้อมเห็นชอบกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ ระยะปานกลางในปี 2566 ในช่วงร้อยละ 1-3 เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาควบคู่กับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรีวันนี้ (27 ธันวาคม 2565) เห็นชอบแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) โดยมีเป้าหมาย เน้นการปรับลดขนาดการขาดดุลเพื่อมุ่งสู่การจัดงบประมาณสมดุลในระยะเวลาทีเหมาะสม โดยจะปรับลดขนาดการขาดดุลให้เหลือไม่เกิน ร้อยละ 3.0 ต่อ GDP ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2567 และจะปรับลดขนาดการขาดดุลลงอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังเห็นชอบกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงินสำหรับระยะปานกลางและเป้าหมายในปี 2566 โดยกำหนดอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 ซึ่งยังมีความเหมาะสม เนื่องจากการกำหนดเป้าหมายแบบช่วงที่มีกว้างร้อยละ 2 ทำให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอรองรับความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในระยะปานกลางรวมถึงจะช่วยเอื้อให้การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาในระยะปานกลางสามารถดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนและรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน
สำหรับ แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) สาระสำคัญ สรุปดังนี้
1. สถานะและประมาณการเศรษฐกิจ
ปี 2567 คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 3.3 - 4.3 อัตราเงินเฟ้อ ร้อยละ 1.0- 2.0 โดยในปี 2568 -2570 มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับปี 2568 และปี 2569 GDP คาดขยายตัวร้อยละ 2.9 - 3.9 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อ ปี 2568 คาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.2-2.2 และในปี 2569 อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ร้อยละ 1.3-2.3 และในปี 2570 คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 2.8-3.8 และอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ร้อยละ 1.4-2.4
โดยมีแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวดีขึ้นของการลงทุนในประเทศ สอดคล้องกับแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนและการฟื้นตัวภาคการท่องเที่ยว
2. สถานะและประมาณการการคลัง
2.1 ประมาณการรายได้รัฐบาลสุทธิ ปี 2566-2570 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยในปี 2566 คาดรายได้รัฐบาลจำนวน 2.490 ล้านล้านบาท ปี 2567 ประมาณการรายได้จำนวน 2.757 ล้านล้านบาท ปี 2568 ประมาณการรายได้จำนวน 2.867 ล้านล้านบาท ปี 2569 ประมาณการรายได้จำนวน 2.953 ล้านล้านบาท และปี 2570 ประมาณการรายได้จำนวน 3.041 ล้านล้านบาท
โดยการจัดเก็บรายได้ในระยะปานกลาง จะฟื้นตัวตามการบริโภคและการลงทุนในประเทศ รายได้จากภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ ตลอดจนการท่องเที่ยวหลังการผ่อนคลายข้อจำกัดในการเดินทาง
2.2 ประมาณการงบประมาณรายจ่าย
ปี งบประมาณ 2567-2570 ปรับเพิ่มขึ้น โดยมีสมมติฐานที่สำคัญ เช่นการกำหนดการจ่ายคืนต้นเงินกู้ให้มีสัดส่วนร้อยละ 2.5 -4.0 ของวงเงินงบประมาณ เพื่อบริหารจัดการหนี้สาธารณะให้เกิดความยั่งยืนทางการคลัง และเหมาะสมกับกำลังเงินของประเทศ กำหนดสัดส่วนงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นอยู่ที่ร้อยละ 2.0-3.5 ของวงเงินงบประมาณ ควบคุมการใช้จ่ายบุคลากรให้มีอัตราเพิ่มโดยเฉลี่ยไม่เกินร้อยละ 4.0 โดยใช้มาตรการในการกำหนดให้หน่วยรับงบประมาณนำเงินรายได้มาสมบทค่าใช้จ่ายเป็นต้น โดยในปี 2566 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.185 ล้านล้าบาท ปี 2567 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.350 ล้านล้าบาท ปี 2568 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.457 ล้านล้าบาท ปี 2569 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.568 ล้านล้าบาท และ ปี 2570 งบประมาณรายจ่ายจำนวน 3.682 ล้านล้านบาท
2.3 ดุลการคลัง ในปีงบประมาณ 2567-2570 ยังคงเป็นงบประมาณขาดดุล
2.4 ประมาณการหนี้สาธารณะต่อ GDP สำหรับปีงบประมาณ 2567-2570 ยังคงอยู่ภายใต้กรอบพ.ร.บ. ระเบียบวินัยการเงินการคลัง โดยปี 2566 ร้อยละ 60.64 ปี 2567 ร้อยละ 61.35 ปี 2568 ร้อยละ 61.78 ปี 2569 ร้อยละ 61.69 ปี 2570 ร้อยละ 61.25
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีได้กล่าวการกำหนดแผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2567-2570) ได้ยึดหลัก “Sound Strong Sustained” เน้นการดำเนินนโยบายการคลังที่สมเหตุสมผล สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง เสริมสร้าง ความเข้มแข็งทางการคลังในทุกด้าน ทั้งการฟื้นฟูการจัดเก็บรายได้ การจัดสรรงบฯ รายจ่าย และการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่ทางการคลัง ให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม รองรับการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล ภาคการคลังที่ยั่งยืนและมีศักยภาพในการรองรับความเสี่ยงที่ประเทศอาจต้องเผชิญอีกในอนาคต และหากภาวะเศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะเป็นแนวทางเพื่อให้หน่วยงานของรัฐนำไปใช้ประกอบการพิจารณาในการจัดเก็บหรือหารายได้ การจัดทพงบฯ และการก่อหนี้ของหน่วยงานของรัฐตามพ.ร.บ. วินัยการเงินการคลังฯ พ.ศ. 2561 ต่อไป