In News

รุกBCGอนุมัติสินเชื่อธุรกิจชุมชนระยะ2 ขยายเวลาออกอีก3ปีดึงเกษตรกรร่วม



กรุงเทพฯ-สร้างเศรษฐกิจใหม่ต่อยอดธุรกิจชุมชนเดิม ครม.เดินหน้า BCG อนุมัติโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ระยะที่ 2 ขยายเวลาออกไปอีก 3 ปี เพิ่มวัตถุประสงค์และกลุ่มเป้าหมายครอบคลุมเกษตรกร Smart Farmer บุคคล กลุ่มผู้ผลิตผู้ใช้น้ำตามโครงการพัฒนาแหล่งน้าเพื่อการ

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 27 ธันวาคม 2565 ว่า ที่ประชุมครม.ได้เห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอการปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย  โดยขยายระยะเวลาดำเนินโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยออกไปอีก 3 ปีจากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นสิ้นสุดวันที่ 30 พฤศจิกายน 2568 และปรับชื่อโครงการจาก โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย เป็นโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ระยะที่ 2 เพื่อให้เป็นกลไกขับเคลื่อนการสนับสนุนสินเชื่อในการปฏิรูปภาคการเกษตร การสร้างกิจกรรมและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานในชุมชนอย่างต่อเนื่อง และยกระดับคุณภาพการผลิตสินค้าเกษตรในห่วงโซ่มูลค่าเพิ่มให้ได้มาตรฐานตรงตามความต้องการของตลาด รวมทั้งทำให้เกิดความยั่งยืนตามแนวทาง BCG Model BCG Model

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทั้งนี้ได้ เพิ่มเติมกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ เกษตรกร บุคคลทั่วไป ลูกค้า Smart Farmer (คือเกษตรกรที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและระบบดิจิทัล นวัตกรรม รวมถึงข้อมูลหรือแนวคิดทางธุรกิจแบบใหม่เพื่อผลักดันประสิทธิภาพการผลิตให้ได้มากที่สุดภายใต้งบประมาณที่เหมาะสมที่สุด) ชุมชนที่อยู่ระหว่างกระบวนการพัฒนาของ ธ.ก.ส. และกลุ่มผู้ใช้น้ำที่พัฒนาเป็นกลุ่มผู้ผลิตตามโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประกอบกับได้ขยายวัตถุประสงค์ให้สอดคล้องกับการดำเนินโครงการในการปฏิรูปภาคการเกษตร สร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่หรือต่อยอดธุรกิจชุมชนเดิม โดยการปรับเปลี่ยนพัฒนาการใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมหรือดำเนินการตามแนวทาง BCG Model ภายใต้หลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือโครงการพัฒนาการบริหารจัดการแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอย่างยั่งยืนภายใต้ความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเป็นกลไกการขับเคลื่อนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถและประสิทธิภาพการผลิต รองรับการแข่งขัน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี สังคมเศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โครงการนี้จะเป็นสินเชื่อเพื่อเป็นค่าลงทุนในการดำเนินกิจการและเป็นค่าใช้จ่ายหมุนเวียนในการดำเนินกิจการที่มีอัตราดอกเบี้ยเพียงร้อยละ 0.01 ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นจะคิดอัตราดอกเบี้ยตามเกณฑ์ปกติของธนาคาร ซึ่งโครงการเดิมที่สิ้นสุดไปแล้วมีผู้ได้ประโยชน์จากการขอสินเชื่อ 5,155 กลุ่ม/ราย สำหรับสินเชื่อทั้งหมด 22,933.22 ล้านบาท ทำให้ยังเหลือวงเงินสินเชื่ออีกประมาณ 27,066.78 ล้านบาท จากวงเงินเต็ม 50,000 ล้านบาท

“รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มุ่งมั่นโครงการนี้ให้มีความต่อเนื่องเพื่อให้มีทุนหมุนเวียนแก่เกษตรกร ทำให้เกิดการปฏิรูปภาคการเกษตร สร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ชุมชน แบะเกิดกิจกรรมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ เกิดการจ้างงานในชุมชน รวมถึงสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนทุกท้องถิ่นทั่วไทย ดังนั้นที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความสำคัญกับการประเมินผลเพื่อหารูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ และทำการขยายผลเพื่อสนับสนุนให้การปรับโครงสร้างการผลิตและบริการภาคการเกษตรของไทยไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านการผลิตและการบริโภคไปสู่ความยั่งยืนต่อไป” น.ส.ทิพานัน กล่าว