In News
กรมขนส่งทางรางถกความพร้อมรับปีใหม่ ชงแก้4ปัญหาสำคัญ/ในวันสิ้นปีวิ่งถึงตี2
กรุงเทพฯ-กรมการขนส่งทางราง จัดประชุมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางรางเพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านระบบราง และการเตรียมความพร้อมรองรับการเดินทางช่วงเทศกาลปีใหม่ 2023 ชง4ปัญหาเร่งแก้ไข การเข้าถึงลานจอดรถ เหตุไฟฟ้าขัดข้อง ข้อร้องเรียนในสื่อออนไลน์และความแออัดผู้โดยสาร
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม เป็นประธานการประชุม “คณะกรรมการกำกับและบริหารจัดการระบบขนส่งทางราง” ครั้งที่ 4/2565 โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานในระบบขนส่งทางรางและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมซึ่งที่ประชุมได้มีการพิจารณาหารือการแก้ไขและการป้องกันปัญหาในระบบขนส่งทางรางในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
1.การแก้ไขปัญหาการเข้าถึงลานจอดรถ ป้ายจอดรถโดยสารประจำทาง และจุดจอดแล้วจร สถานีตลิ่งชัน ที่ประชุมฯ รับทราบความคืบหน้าผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาด้านความสะดวกและความปลอดภัยการเข้าถึงสถานี ด้านปัญหาป้ายบอกทาง/ป้ายจราจรที่ไม่ชัดเจนและสอดคล้องกับพื้นที่ และประเด็นปัญหาการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานี โดยมีสิ่งที่ดำเนินการแล้ว ได้แก่ การปรับปรุงรูปแบบทางเดินรถภายในสถานีเป็นทางเดียว การติดตั้งแบริเออร์คอนกรีตเพื่อปิดกั้นทางเข้าลานจอดรถด้านทิศตะวันออกบริเวณทางแยกตัววาย (Y) ใต้สะพากลับรถ การปรับปรุงทางเท้าของถนนเลียบทางรถไฟ การปรับลดความชันของคันชะลอความเร็วบริเวณทางเบี่ยงจากถนนเลียบทางรถไฟฝั่งขาออก และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการตามแผนปรับปรุงระยะเร่งด่วนที่อยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การปรับปรุงพื้นที่จอดรถด้านทิศตะวันออกที่ติดกับอาคารผู้โดยสารเพื่อเป็นพื้นที่จอดแล้วจร จุดจอดรถแท็กซี่ และพื้นที่จอดรถสำหรับคนพิการ พร้อมติดตั้งหลังคาคลุมทางเดินเชื่อมเข้าสู่อาคารสถานี การติดตั้งและปรับปรุงป้ายและสัญลักษณ์จราจรภายในสถานีให้สอดคล้องกับรูปแบบการเดินรถ และการจัดทำทางลาดสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุบริเวณอุโมงค์ทางเชื่อมเข้าสู่อาคารผู้โดยสาร โดยให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 19 มกราคม 2566
2. สถิติเหตุขัดข้องรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและแนวทางแก้ไข ประจำเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมฯ รับทราบรายงานสถิติเหตุขัดข้องของรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและแนวทางการแก้ไขปัญหาประจำเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน 2565 ซึ่งในเดือนตุลาคมเกิดเหตุขัดข้องทั้งหมด 7 ครั้ง ลดลงจากเดือนกันยายน 13 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบอาณัติสัญญาณ 3 ครั้ง ระบบขับเคลื่อน 2 ครั้ง ระบบประตูรถและระบบจ่ายกระแสไฟฟ้าอย่างละ 1 ครั้ง ในเดือนพฤศจิกายนเกิดเหตุขัดข้องทั้งหมด 3 ครั้ง สาเหตุเกิดจากระบบอาณัติสัญญาณ ระบบประตูรถ และจุดสับรางอย่างละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางราง (ขร.) ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางที่เกี่ยวข้อง ได้มีการหารืออย่างใกล้ชิดเพื่อตรวจสอบหาสาเหตุ กำหนดแนวทางแก้ไข และติดตามผลการแก้ไขอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุขัดข้องซ้ำอีกต่อไป
3. ข้อร้องเรียนในสื่อสังคมออนไลน์ (Facebook) เกี่ยวกับสภาพอากาศร้อนภายในตู้โดยสารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
ประชุมฯ รับทราบรายงานการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียน โดนพบว่าอากาศภายในตู้โดยสารมีอุณหภูมิเฉลี่ย 25 องศาเซลเซียส แต่จะรู้สึกร้อนขึ้นเมื่อมีผู้โดยสารภายในตู้โดยสารมากขึ้น อาทิ ช่วงชั่วโมงเร่งด่วน เพื่อเป็นการบรรเทาปัญหาดังกล่าวต่อผู้ใช้บริการ จึงมอบหมายให้ บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ดำเนินการแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม ดังนี้ 1) ปรับความเร็วลมจ่ายเข้าห้องโดยสารให้มากขึ้น 2) ซ่อมบำรุงระบบทำความเย็นตามที่ผู้ผลิตกำหนดอย่างเคร่งครัด และ 3) ตรวจสอบสารทำความเย็นและความสมบูรณ์ของคอมเพรสเซอร์ และจัดทำแผนการซ่อมบำรุงระบบปรับอากาศให้ชัดเจนอย่างเร่งด่วน โดย ขร. จะได้ดำเนินการหาสาเหตุและติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาร่วมกับบริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ต่อไป
4. การพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการความหนาแน่นของผู้โดยสารภายในสถานีรถไฟฟ้าและบริเวณทางขึ้น - ลง ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการจัดการปริมาณผู้โดยสารและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการเข้าใช้บริการระบบรถไฟฟ้า โดยเฉพาะรถไฟฟ้าในเมือง (Metro) และระบบรถไฟฟ้าชานเมือง (Commuter) ที่คาดว่าจะมีผู้ใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ระหว่างคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 1 มกราคม 2566 ขร. ร่วมกับกับหน่วยงานผู้ให้บริการขนส่งทางรางได้แก่ BTSC รฟม. BEM และ Asia Era One ได้พิจารณากำหนดแนวทางการจัดการความหนาแน่นผู้โดยสารภายในสถานีและบริเวณทางขึ้น - ลง (Crowd Control) และมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในช่วงเวลาดังกล่าว สรุปดังนี้
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
- ขยายเวลาให้บริการจาก 24.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2566
- จัดเตรียมขบวนรถให้บริการจำนวนสูงสุด 18 ขบวน และขบวนรถสำรองจำนวน 2 ขบวน กรณีมีปริมาณผู้รอใช้บริการภายในสถานีและทางขึ้น - ลง เพิ่มมากขึ้น
- จัดพนักงานและข้อความสำหรับประกาศแจ้งเตือนและของความร่วมมือผู้โดยสารในสถานการณ์ต่าง ๆ
- เพิ่มจุดจำหน่ายบัตรโดยสารและจัดเตรียมคูปองกรณีระบบจัดเก็บค่าโดยสารอัตโนมัติขัดข้องหรือไม่เพียงพอต่อผู้ให้บริการ
- จัดทำ Group Entry ที่ชั้นชานชาลา ชั้นออกบัตรโดยสาร และหน้าทางเข้า-ออกระดับถนน
- จัดเตรียมแผนสำรองในกรณีฉุกเฉินและจัดการทบทวนและซักซ้อมแผนรองรับเหตุการณ์และตรวจสอบอุปกรณ์สถานี
รถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีสยาม ชิดลม สะพานตากสินและสายสีทอง สถานีเจริญนคร
- ขยายเวลาให้บริการจาก 24.00 น. ของวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ถึงเวลา 02.00 น. ของวันที่ 1 มกราคม 2566 และปรับเพิ่มความถี่การให้บริการขบวนรถมากขึ้นโดยให้สอดคล้องกับปริมาณผู้โดยสารที่เข้าใช้บริการ
- เพิ่มจุดจำหน่ายบัตรโดยสารบริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว นอกเหนือจากตู้จำหน่ายตั๋วอัตโนมัติ เพื่อให้สอดคล้องกับปริมาณผู้มาใช้บริการ
- ตรวจและติดตามปริมาณผู้ใช้บริการภายในสถานีอย่างต่อเนื่องผ่านกล้อง CCTV พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เดินตรวจตราปริมาณผู้รอใช้บริการบริเวณพื้นถนน เพื่อประสานข้อมูลกับศูนย์การเดินรถจัดการเดินรถที่เหมาะสมกับสถานการณ์
- เพิ่มจำนวนพนักงานให้บริการและดูแลความปลอดภัย ประจำจุดทางขึ้น - ลงสถานี บริเวณชั้นจำหน่ายตั๋ว และบริเวณชั้นชายชาลา
- กำหนดมาตรการปิดกั้นบันไดเลื่อน และการปล่อยผู้ใช้บริการเข้าสถานีเป็นระยะ ๆ โดยจัดพนักงานอำนวยความสะดวกตามจุดต่าง ๆ
- ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการเดินทางและสถานการณ์ภายในสถานีให้ผู้ใช้บริการรับทราบและปฏิบัติตามคำแนะนำ ผ่านป้ายข้อความและประกาศแจ้งเตือน พร้อมทั้งประสานผู้จัดงานในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลการให้บริการในช่วงเวลาเดินทางกลับและสถานการณ์ฉุกเฉินต่าง ๆ
ทั้งนี้ ที่ประชุมฯ มอบหมายให้ ขร. และหน่วยงานผู้ให้บริการระบบขนส่งทางรางที่เกี่ยวข้องติดตามการดำเนินงานตามแผนการดังกล่าว และเพิ่มเติมแนวทางการจัดการปริมาณผู้รอใช้บริการบริเวณจุดเชื่อมต่อสถานีรถไฟฟ้าสายสีเขียว สถานีอโศก (E4) และสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สถานีสุขุมวิท (BL22) เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกและปลอดภัยในการใช้บริการขนส่งทางราง