In News

ศบค.กทม.ย้ำเจ้าของโรงงานติดมหาชัย ใช้แอปฯ'หมอชนะ'ติดตามผู้ติดเชื้อโควิด



กรุงเทพฯ-ประชุมศบค.กทม.ย้ำเจ้าของสถานประกอบการ โรงงานกำชับให้แรงงานใช้แอปฯ “หมอชนะ” เขตบางขุนเทียน บางบอน ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม และจอมทอง

(5 ก.พ. 64) ร.ต.อ.พงศกร  ขวัญเมือง โฆษกของกรุงเทพมหานคร เปิดเผยผลการประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) กรุงเทพมหานคร (ศบค.กทม.) ซึ่งมีพล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานว่า การค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เสี่ยง (Sentinel Surveillance ) ของโรงงานในพื้นที่ 6 เขต ได้แก่ ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม บางบอน จอมทอง และบางขุนเทียน ปัจจุบัน (4 ก.พ. 64) ดำเนินการแล้วทั้งสิ้น 113 แห่ง แรงงานที่ผ่านการตรวจฯ รวม 13,042 คน พบผู้ติดเชื้อรวม 54 ราย  ซึ่งขอขอบคุณเจ้าของโรงงานที่ให้ความร่วมมือให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจหาผู้ติดเชื้อเป็นอย่างดี   และขอให้ประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงอย่าได้วิตกกังวลเนื่องจากกรุงเทพมหานครและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แยกตัวผู้ติดเชื้อนำไปรับการรักษาเรียบร้อยแล้ว และขอให้ประชาชนทุกคนดูแลรักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล ด้วยการสวมใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในที่สาธารณะ หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยเจลแอลกอฮอล์ล้างมือหรือน้ำสบู่ หลีกเลี่ยงการร่วมอยู่ในสถานที่มีคนอยู่หนาแน่นแออัด  นอกจากนี้ขอให้สถานประกอบการ รวมทั้งเจ้าของสถานที่ที่มีการใช้สอยร่วมกันหมั่นทำความสะอาดสิ่งของที่ใช้สอยร่วมกัน เช่น โต๊ะ เก้าอี้ ลูกบิดประตู  

ทั้งนี้ ศบค.กทม.ได้กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานเขตที่ดูแลพื้นที่เสี่ยง อาทิ เขตบางขุนเทียน บางบอน ภาษีเจริญ บางแค หนองแขม และจอมทอง แจ้งขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงาน และเจ้าของสถานประกอบการในพื้นที่ กำชับให้แรงงานดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นหมอชนะ เพื่อประโยชน์ในการติดตามและสอบสวนโรค รวมทั้งให้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานหากมีการจัดทำโรงอาหารภายในโรงงานให้เว้นระยะห่างระหว่างที่นั่ง และควรหันหน้าไปในทิศทางเดียวกัน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตลอดจนให้สำนักงานเขตทุกเขตกำชับผู้ประกอบการร้านอาหารในพื้นที่ โดยเฉพาะในเขตที่เป็นพื้นที่เสี่ยง และพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคที่ราชการกำหนดอย่างเคร่งครัด  

นอกจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงสำนักงานเขต แจ้งเตือนประชาชนถึงความเสี่ยงของการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 อาทิ การจัดงานเลี้ยงในพื้นที่ส่วนตัวที่อาจมีการดื่มกินร่วมกัน หรือรวมกลุ่มในสถานที่เดียวกันเป็นจำนวนมากหรือเป็นเวลานาน หรือการรับประทานอาหารรวมกันเป็นกลุ่ม เป็นต้น โดยขอความร่วมมือประชาชนให้ดูแลสุขอนามัยส่วนบุคคลเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ตามที่ราชการกำหนด  และงดเว้นการรวมกลุ่มรับประทานอาหารในสำนักงานหรือสถานประกอบการ เพื่อความปลอดภัยและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด-19  เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่เชื้อโควิด-19