Travel Soft Power & Sport

แสงสุดท้ายของประเทศไทยของปี2565 ที่หมู่เกาะสิมิลันตะวันตกที่ทะเลอันดามัน



พังงา-วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าที่หมู่เกาะสิมิลัน ต.เกาะพระทอง อ.คุระบุรี จ.พังงา เป็นหมู่เกาะที่อยู่สุดไปทางทิศตะวันตกมากที่สุดในทะเลอันดามันติดกับมหาสมุทรอินเดีย จึงเป็นพื้นที่ที่สามารถมองเห็นพระอาทิตย์ค่อยๆ จมหายไปในในทะเลที่เส้นขอบทะเลอย่างชัดเจน  ซึ่งเป็นภาพแสงสุดท้ายที่เกาะ8 หรือเกาะหินเรือใบหรือเกาะสิมิลัน และจุดชมพระอาทิตย์ตกที่เกาะ4 หรือเกาะเมียง ที่มีความชัดเจนไร้เมฆหมอกมาบดบัง นับเป็นแสงสุดท้ายของปี 2565 เป็นที่สุดท้ายของประเทศไทย โดยวันนี้พระอาทิตย์ตกในเวลา 18.20 น.

อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ตั้งอยู่ระหว่างเส้นละติจูดที่ 8 องศา 28ลิปดาถึง 9 องศา 15 ลิปดาเหนือ ตัดกับลองติจูดที่ 97 องศา ถึง 97 องศา 50 ลิปดาตะวันออก ในทะเลอันดามัน มหาสมุทรอินเดีย ที่ตั้งของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน อยู่ห่างจากท่าเทียบเรือทับละมุ อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ประมาณ 70 กิโลเมตร และห่างจากท่าเทียบเรือหาดป่าตอง อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 90 กิโลเมตร “สิมิลัน” เป็นภาษายาวี หรือมลายู แปลว่า “เก้า” จึงมีชื่อเรียกกันว่า หมู่เกาะสิมิลัน หรือเกาะเก้า ประกอบไปด้วยเกาะใหญ่น้อย 9 เกาะด้วยกัน เกาะทั้งเก้าเรียงตัวตามแนวทิศเหนือไปทิศใต้ ได้แก่ เกาะบอน เกาะบางู เกาะสิมิลัน เกาะปายู เกาะห้า เกาะเมียง เกาะปาหยัน เกาะปายัง และเกาะหูยง    หมู่เกาะสิมิลัน ได้รับการประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติของประเทศไทย ลำดับที่ 43 ในปี พ.ศ. 2525 มีขนาดพื้นที่ 128 ตารางกิโลเมตร (80,000 ไร่) และได้ผนวกเกาะตาชัยและเกาะบอนเข้ามาอยู่ในเขตอุทยานฯเมื่อปี 2541

"หมู่เกาะสิมิลัน" คือสรวงสวรรค์ใต้สมุทรที่อุดมไปด้วยชีวิตน้อยใหญ่มากมาย ไม่ว่าจะเป็นปะการัง และหมู่ฝูงปลา มีน้ำใสราวแผ่นกระจกและมีหาดทรายที่ขาวสะอาดงดงาม สิมิลันมีชื่อเสียงทางด้านมีแหล่งน้ำลึกที่สวยงาม ติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก และภาพหินเรือใบเป็นภาพสัญลักษณ์ของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสิมิลัน ซิ่งตั้งอยู่ที่เกาะ8 (สิมิลัน) ที่มีความงดงามมาก และถือเป็นจุดเด่นของหมู่เกาะสิมิลัน