In Bangkok

คชก.กทม.เตรียมยื่นอุทธรณ์ชี้แจงกระบวน EIA ศุภาลัยฯรัชดา-วงศ์สว่าง



กรุงเทพฯ-สำนักสิ่งแวดล้อม สำนักการโยธาและสำนักงานเขตบางซื้อ ร่วมกับคชก.กทม.เตรียมยื่นอุทธรณ์ชี้แจงกระบวนการพิจารณา EIA โครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา-วงศ์สว่าง

นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม. กล่าวกรณีศาลปกครองกลางมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดา - วงศ์สว่างว่า โครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ - วงศ์สว่าง เข้าสู่กระบวนการพิจารณารายงาน EIA ของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านอาคาร การจัดสรรที่ดิน และบริการชุมชน กรุงเทพมหานคร (คชก.กทม.) ซึ่งมีการประชุมทั้งหมด 6 ครั้ง โดยครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 เม.ย.63 คชก.กทม.มีมติไม่เห็นชอบรายงาน EIA และจบกระบวนการพิจารณา ต่อมาโครงการฯ ได้แก้ไขรายงาน EIA จึงเข้าสู่การพิจารณาครั้งเมื่อวันที่ 2 ส.ค.64 ซึ่ง คชก.กทม.ได้พิจารณาตามหลักฐานทางวิชาการและข้อกฎหมาย รวมถึงประเด็นข้อร้องเรียนเห็นว่า โครงการดังกล่าวได้จัดทำรายงาน EIA ตามแนวทางรายละเอียดและประเด็นที่ คชก.กทม.กำหนด ประกอบกับได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  มาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม รวมถึงมาตรการชดเชยเยียวยาอย่างครบถ้วน จึงให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการดังกล่าว ต่อมาศาลปกครองได้มีคำสั่งเรียกให้จัดทำคำให้การแก้คำฟ้องคดีและคำชี้แจง ซึ่งในคดีนี้ศาลได้มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับตามมติของ คชก.กทม.ในการประชุมเมื่อวันที่ 2 ส.ค.64 ที่ให้ความเห็นชอบรายงาน EIA โครงการศุภาลัย ลอฟท์ รัชดาฯ - วงศ์สว่าง เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลมีคำพิพากษา หรือคำสั่งเป็นอย่างอื่น โดยให้มีผลทันที ส่งผลให้รายงาน EIA โครงการดังกล่าว ซึ่งกำหนดเป็นเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตก่อสร้าง หรือรับแจ้งพ้นสภาพบังคับชั่วคราว จึงทำให้ใบอนุญาตก่อสร้าง หรือรับแจ้งการก่อสร้างไม่ชอบด้วยกฎหมาย โครงการฯ จะต้องหยุดการก่อสร้าง หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคารและอาจมีความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งศาล ทั้งนี้ คชก.กทม.จะยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาล เพื่อชี้แจงในประเด็นที่ศาลให้ความเห็นว่า อาจจะไม่ชอบด้วยกฎหมายและชี้แจงให้เห็นว่า กระบวนการพิจารณารายงาน EIA ของ คชก.กทม.มีเหตุผลอันสมควรและชอบด้วยกฎหมาย

อย่างไรก็ตาม การพิจารณารายงาน EIA โครงการฯ ดังกล่าว คชก.กทม.ได้พิจารณาประกอบทั้งกฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายการผังเมือง รวมถึงรับฟังความคิดเห็นของผู้ห่วงกังวล โดยกำหนดเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการชดเชยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งมาตรการต่าง ๆ ในรายงานนี้จะกำหนดไว้เป็นเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และโครงการฯ จะต้องถือปฏิบัติ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนดไว้ จะมีความผิดตามกฎหมายควบคุมอาคาร โดยสำนักการโยธา กทม.และสำนักงานเขตบางซื่อจะติดตามตรวจสอบให้ปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA ขณะที่เจ้าของโครงการฯ จะต้องจัดส่งรายงานผลการปฏิบัติตามมาตรการในรายงาน EIA ให้ กทม.เพื่อส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ปีละ 2 ครั้ง

นายธวัชชัย  นภาศักดิ์ศรี รองผู้อำนวยการสำนักการโยธา รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักการโยธา (สนย.) กทม. กล่าวว่า สนย.ได้ประสานสำนักงานเขตบางซื่อ และบริษัท ศุภาลัย จำกัด (มหาชน) หยุดการก่อสร้างตามคำสั่งศาลแล้ว ขณะเดียวกันได้มีหนังสือแจ้งบริษัทฯ ให้ปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองกลางอย่างเคร่งครัด กรณีโครงการฯ บังแดด - บังลม ส่งผลกระทบต่อวิถีการดำรงชีวิตตามปกติของประชาชนที่พักอาศัยใกล้เคียง เป็นไปตามข้อพิจารณาและหลักเกณฑ์ของ คชก.กทม.ให้ความเห็นชอบรายงาน  EIA ทั้งนี้ ที่ผ่านมา สนย.ได้สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และขั้นตอนการขออนุญาตก่อสร้างอาคารจะต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 และกฎกระทรวงผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ตามหมายเลข ย.8-1 สีน้ำตาล เป็นการใช้ประโยชน์ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก สามารถก่อสร้างอาคารอยู่อาศัยประเภทอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้ รวมทั้งกำชับเจ้าหน้าที่ให้ติดตามตรวจสอบการก่อสร้างโครงการต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามมาตรการ EIA อย่างเคร่งครัด

นายสรสิช เหลืองรุ่งเกียรติ ผู้อำนวยการเขตบางซื่อ กทม. กล่าวว่า สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบการก่อสร้างเป็นประจำ เพื่อไม่ให้โครงการฯ ทำงานเกินเวลาตามที่กฎหมายกำหนด รวมถึงตรวจสอบค่าระดับเสียง ค่าฝุ่นละออง และการสั่นสะเทือน ซึ่งที่ผ่านมาค่าระดับต่าง ๆ ไม่เกินเกณฑ์ตามที่ EIA กำหนด ส่วนกรณีศาลปกครองมีคำสั่งระงับการก่อสร้าง ได้แจ้งให้โครงการฯ ทราบและระงับการก่อสร้างตั้งแต่วันที่ 28 ธ.ค.65 นอกจากนั้น สำนักงานเขตฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ตรวจสอบภายในโครงการฯ ทุกวัน เพื่อไม่ให้มีการละเมิดคำสั่งศาลปกครอง