EDU Research & ESG

ในหลวงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ 'ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์'นั่งอธิการบดีมทษ.



สงขลา-แต่งตั้ง รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ เป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณคนใหม่มหาวิทยาลัยทักษิณ(มทษ.)จัดพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ ตามที่มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ  ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 

วันนี้เรามาทำความรู้จักกับอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณคนใหม่ กับแนวทางการขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณในอนาคต 

รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ปริญญาโทด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และปริญญาเอกด้านการพัฒนาสังคมจากมหาวิทยาลัยนเรศวร วันที่ 4 มกราคม 2542 วันแรกของการทำงานในบทบาทอาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยทักษิณ เรื่อยมาจนก้าวสู่คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ และเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2565 ที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยมีมติเห็นชอบให้เสนอชื่อเพื่อพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี มหาวิทยาลัยทักษิณ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้นำความกราบบังคมทูลพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งรองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ  ตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 

จากประสบการณ์การทำงานที่มุ่งมั่น แน่วแน่ของรองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ที่เคยดำรงตำแหน่งคณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา รักษาการแทนผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการบริการวิชาการและภูมิปัญญาชุมชน และ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ รวมทั้งบทบาทในฐานะนักวิชาการทำงานร่วมกับชุมชนในหลายมิติมาอย่างยาวนาน ที่เห็นบริบทการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เป็นข้อมูลสำคัญที่ทำให้รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ ได้นำมาเสนอวิสัยทัศน์ “The University of Glocalization” ที่จะทำให้มหาวิทยาลัยทักษิณเป็นพื้นที่ของการเชื่อมต่อความรู้ การสานพลังระหว่างท้องถิ่น และความเป็นสากล หรือโลกาภิวัฒน์

รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าวว่า จะขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยทักษิณ ไปสู่มหาวิทยาลัยที่มีจุดยืนที่เข้มแข็งเพื่อท้องถิ่นและเพื่อสังคม ตามปณิธาน “มหาวิทยาลัยเพื่อสังคม” ที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรมสังคมและเป็นมหาวิทยาลัยในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม โดยกำหนด“หมุดหมาย” (Milestones) การบริหารเพื่อขับเคลื่อนและมุ่งสู่ภาพอนาคตของมหาวิทยาลัยในเชิงยุทธศาสตร์ จำนวน 6 หมุดหมาย คือ

1) การจัดการศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ

2) สร้างผลงานวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การพัฒนาเชิงพื้นที่ และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

3) การบริการวิชาการและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่และสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน

4) พัฒนานวัตกรรมสังคมบนฐานศิลปะ วัฒนธรรม หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อสืบสานและการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน

5) พัฒนามหาวิทยาลัยสู่มาตรฐานระดับนานาชาติบนฐานท้องถิ่น 

6) มีระบบบริหารจัดการที่เป็นเลิศ

มหาวิทยาลัยทักษิณในฐานะองค์กรที่มีชีวิต จะถูกปลุกเร้าด้วยพลังความรู้ ความรัก และการสานพลังความร่วมมือ ด้วยค่านิยมและวัฒนธรรรมหลัก ที่เรียกว่า “เคลื่อนเปลี่ยนสู่อนาคต” หรือ TSU MOVE เพื่อขับเคลื่อนไปสู่มหาวิทยาลัยนวัตกรรมสังคมชั้นแนวหน้า การเป็นมหาวิทยาลัยที่โดดเด่นในกลุ่มการพัฒนาเทคโนโลยีและการส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม การเป็นมหาวิทยาลัยที่สามารถเชื่อมต่อความรู้ระหว่างท้องถิ่น-ความเป็นสากล เป็นการสร้างการเติบโตจากรากสู่โลกที่เรียกว่า The University of Glocalization

“ผมเชื่อมั่นว่า “ทุกชีวิตล้วนมีหมุดหมายของการเดินทาง” ผมจะปักหมุดของการเดินทางและความท้าทายใหม่ ในโอกาสสำคัญๆของชีวิตที่สัมพันธ์กับเวลาแห่งการเริ่มต้นปีใหม่อย่างอัศจรรย์ที่สุด” รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าว