In Thailand

ชาวกะปงสืบสานประเพณีครั้งพุทธกาล



พังงา-ที่วัดโฆษิตาราม (วัดกะปง) หาดูยาก ชาวอำเภอกะปงสืบสานประเพณีครั้งพุทธกาล ทำบุญให้ทานไฟเพิ่มความอบอุ่นให้พระสงฆ์ในช่วงหน้าหนาว

เมื่อเวลา 05.30 น.วันที่ 14 มกราคม 2566 ที่วัดโฆษิตาราม (วัดกะปง) ต.กะปง อ.กะปง จ.พังงา นายเถลิงศักดิ์ นุชประหาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงา เป็นประธานนำพุทธศาสนิกชนชาวอำเภอกะปง ร่วมสืบสานประเพณีทำบุญให้ทานไฟ ประจำปี 2566 โดยมี ว่าที่ร้อยเอกพงศ์ศักดิ์ เวทยาวงศ์ นายอำเภอเมืองพังงา นส.อุไรวรรณ แดงงาม วัฒนธรรมจังหวัดพังงา นายเดชภูวิส ภักดีสนิท ปลัดอาวุโสอำเภอกะปง ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ เด็ก เยาวชนและประชาชนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก

ซึ่งรองผู้ว่าราชการจังหวัดพังงาได้นำกล่าวถวายทานไฟ  และเริ่มจุดกองไฟบนลานวัด จากนั้นพระสงฆ์เดินเวียนรอบกองไฟ3รอบ มีการแสดงรำรอบกองไฟของกลุ่มสตรี  จากนั้นประธานในพิธีนำเด็กๆและผู้มีเกียรติร่วมเดินชมและชิมอาหารคาวหวานที่ชาวบ้านและหน่วยงานต่างนำมาร่วมงานเกือบ100ชนิด  ซึ่งประเพณีให้ทานไฟนี้ นับว่าเป็นประเพณีที่หาดูได้ยากแล้วในปัจจุบัน

      

นายรณพล ขวัญเซ่ง กำนันตำบลกะปง กล่าวว่า สมัยพุทธกาลในฤดูหนาวของประเทศอินเดีย อากาศหนาวเย็นมาก พระภิกษุสงฆ์ที่เผยแพร่พระพุทธศาสนาตามวัด และตามสถานที่ต่างๆ ประสบกับความทุกข์ยาก จากอากาศที่หนาวเย็น ด้วยมีผ้าครองเพียง ๓ ผืน คือ สบง จีวร และสังฆาติ ประชาชนที่พบเห็นสงสารในสาวกของพระพุทธองค์ จึงได้ก่อกองไฟถวายพระภิกษุเหล่านั้นใช้ผิงให้เกิดความอบอุ่น ชนรุ่นหลังได้ถือปฏิบัติสืบต่อกันมา จนเป็นประเพณี เรียกว่า "ประเพณีให้ทานไฟ" ในช่วงใกล้รุ่ง และเห็นว่าเหลือเวลาไม่มากก็จะสว่าง ประชาชนจึงคิดหา เผือก มัน แป้ง ข้าวต่างๆ นำมาย่างไปถวายพระภิกษุด้วย ปัจจุบันได้วิวัฒนาการมาเป็นการก่อกองไฟถวายพระภิกษุ และทำขนมคาวหวานต่างๆ ตามความถนัดของแต่ละบ้านแต่ละท้องถิ่น เพื่อนำมาถวายพระไปพร้อมกัน

    

สำหรับงานประเพณีให้ทานไฟของอำเภอกะปง เป็นประเพณีเก่าแก่ที่ถือปฏิบัติสืบทอดกันมายาวนาน จัดขึ้นในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคมของทุกปี และจัดต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 30 เนื่องด้วยชาวอำเภอกะปงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของงานประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งมีผลดีต่อการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรมและประเพณีท้องถิ่น อีกทั้งเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟูประเพณี วัฒนธรรมตามหลักทางพระพุทธศาสนา และภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อปลูกฝังศีลธรรมจริยธรรมที่ดีแก่เด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ ในส่วนของอาหาร เครื่องดื่ม และขนมที่ทำมานอกจากถวายพระแล้วยังแจกจ่ายให้กับเด็กๆ และผู้มาร่วมงานรับประทานฟรี โดยส่วนใหญ่จะเป็นขนมพื้นบ้านประจำถิ่นซึ่งปรุงขึ้นมาใหม่ๆ ทั้งนั้น