EDU Research & ESG

ผู้ว่าฯแปดริ้วเรียกสถาบันอาชีวะทำMOU แก้ไขปัญหานักเลงเสื้อช็อปคลั่งสถาบัน



ฉะเชิงเทรา-แก้ปัญหานักเลงเสื้อช็อป ผู้ว่าแปดริ้วเรียกทุกสถาบันอาชีวะในพื้นที่เสี่ยง พร้อมโรงเรียนเกิดปัญหาบ่อยรวม 27 องค์กรภาครัฐร่วมลงนามทำ MOU บันทึกความเข้าใจ เพื่อทำการแก้ไขปัญหาไปพร้อมกันทุกฝ่าย เผยเล็งใช้มาตรการเอาผิดไปจนถึงสถาบันการศึกษาตามขั้นตอนในอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่ ไปจนถึงขั้นปิดรูปแบบการเรียนการสอน

วันที่ 19 ม.ค.66 เวลา 10.30 น. ที่หอประชุมวิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา นายขจรเกียรติ รักพานิชมณี ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ได้เดินทางมาเป็นประธานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ในเรื่องการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนและนักศึกษา ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ระหว่างสถาบันการศึกษาและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องรวม 27 องค์กร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการ จ.ฉะเชิงเทรา ศึกษาธิการ จ.ฉะเชิงเทรา ผู้ปัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 

กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน จ.ฉะเชิงเทรา ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ฉะเชิงเทรา ผกก. สภ.เมืองฉะเชิงเทรา ผกก. สภ.บ้านโพธิ์ ผกก. สภ.บางปะกง ผกก. สภ.แสนภูตาษ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ฉะเชิงเทรา ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนา จ.ฉะเชิงเทรา ผู้แทนนายกเทศมนตรีเมืองฉะเชิงเทรา พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จ.ฉะเชิงเทรา หัวหน้าบ้านพักเด็กและครอบครัว จ.ฉะเชิงเทรา ผอ.สำนักงานคุมประพฤติ จ.ฉะเชิงเทรา ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาฉะเชิงเทรา 

ประธานกรรมการอาชีวศึกษา จ.ฉะเชิงเทรา ผอ.วิทยาลัยเทคนิคฉะเชิงเทรา ผอ.วิทยาลัยเทคนิคจุฬาภรณ์ (ลาดขวาง) ผอ.วิทยาลัยอาชีวศึกษาฉะเชิงเทรา ผอ.วิทยาลัยการอาชีพบางปะกง ผอ.วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีฉะเชิงเทรา ผู้รับใบอนุญาตวิทยาลัยเทคโนโลยีอาเซียนไทยบ้านโพธิ์ ผอ.โรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ผอ.โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ 2 และผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฎราชนครินทร์ ฉะเชิงเทรา

โดยที่ นายสุริยา หมาดทิ้ง ศึกษาธิการ จ.ฉะเชิงเทรา ได้กล่าวถึงปัจจัยที่ก่อให้เกิดปัญหาการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า จากสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน ซึ่งเป็นยุคของวิถีชีวิตแนวใหม่ ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษามีพฤติกรรมลอกเลียนแบบจากสื่อออนไลน์ต่างๆ ที่ได้มีการลงภาพและคลิบรวมถึงข้อความที่เป็นการสื่อไปในทางท้าทาย ยั่วยุ ปลุกปั่นยุยงให้มีการก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน จึงยิ่งทำให้ปัญหาทวีความรุนแรงมากขึ้น 

โดยที่สถานการณ์ใน จ.ฉะเชิงเทรา นั้น พบว่านักเรียนนักศึกษามีปัญหาทะเลาะวิวาทกันระหว่างสถานบันการศึกษาเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นสำนักงานศึกษาธิการ จ.ฉะเชิงเทรา พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสถานศึกษา จึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการดำเนินงาน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาในพื้นที่ให้ลดน้อยลง และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น และเป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงเห็นควรให้มีการบูรณาการความร่วมมือกัน ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้

เพื่อใช้เป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนและบูรณาการการ ส่งเสริมความประพฤตินักเรียนนักศึกษาใน จ.ฉะเชิงเทรา อย่างยั่งยืน โดยมีวัตถุประสงค์ 5 ประการดังนี้ คือ 1.เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนก่อเหตุทะเลาะวิวาท 2.เพื่อร่วมกันวางแผนในการป้องกันและแก้ไขปัญหา 3.เพื่อกำหนดมาตรการสถานศึกษาปลอดภัยตามหลัก 3ป. "ป้องกัน ปลูกฝัง ปราบปราม" 

พร้อมสร้างระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในการป้องกันและแก้ไขปัญหาทะเลาะวิวาท 4.เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือในด้านต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหานักเรียนทะเลาะวิวาท ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว 5.เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการจัดกิจกรรมให้นักเรียน นักศึกษา ปรับทัศนคติ ทำความดีมีจิตอาสา เสียสละ ช่วยเหลือบริการประชาชนและสังคม จากการจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นายสุริยา กล่าว

ด้านนายขจรเกียรติ กล่าวหลังจากพิธีลงนามเสร็จสิ้นลงแล้วว่า ที่ผ่านมานั้นหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีการดำเนินการไปก่อนหน้าแล้ว ทั้งตำรวจ ทหาร ที่ได้ลงไปพูดคุยกับทางผู้บริหารสถานศึกษา ในเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทของนักเรียนนักศึกษาขึ้น ทั้งในเรื่องของเงื่อนเวลา และหลักสูตรการศึกษาต่างๆ ในวันนี้จึงมีการลงนามเอ็มโอยู เพื่อเป็นการทำข้อตกลงกันให้ทุกสถาบันร่วมกันทำ ไม่ใช่ทำแต่เพียงแห่งใดแห่งหนึ่ง แล้วอีกฝ่ายไม่ทำนั้นก็คงจะไม่เกิดผลไปสู่ความสำเร็จในการแก้ไขปัญหา

ในวันนี้จึงเป็นการวางแนวทางร่วมกัน หากมีปัญหาเกิดขึ้นในอนาคตเราจะได้มีข้อตกลงว่า เมื่อเกิดเรื่องขึ้นแล้วจะแก้ไขป้องกันหรือป้องปรามอย่างไร สำหรับสถานศึกษาที่ปฏิบัติตามข้อตกลงก็จะมีมาตการอย่างหนึ่ง ส่วนในสถาบันที่ไม่ปฏิบัติตามก็จะมีมาตรการดำเนินการอีกอย่างหนึ่ง หากเกิดขึ้นหลายครั้งแล้วยังมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดเหตุขึ้นซ้ำอีก ผู้บริหารสถานศึกษาเองนั้นก็ต้องรับผิดชอบด้วย พร้อมกับตัวนักเรียน

โดยอาจจะต้องมีการดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ทั้งการสั่งหยุดพักการเรียน หรือสั่งปิดรูปแบบการเรียนการสอน และอาจจะดำเนินการในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งข้อมูลหรือสถิติของการก่อเหตุว่าสถาบันใดมีการก่อเหตุบ่อยครั้งนั้น เรามีข้อมูลอยู่แล้วแต่อย่าให้พูดออกไปเลย ในทุกที่ก็อาจมีนักเรียนทะเลาะวิวาทกันบ้างภายใน ก็ต้องพูดคุยกันให้อยู่ในกรอบกติกา นายขจรเกียรติ กล่าว 

 สนทะนาพร อินจันทร์/ฉะเชิงเทรา