In Bangkok
ผู้ว่าฯชัชชาติตอกย้ำ'กรุงเทพฯต้องสว่าง' จี้หน่วยงานแก้ด่วนปัญหาไฟฟ้าดับ

กรุงเทพฯ-นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้กล่าวย้ำในการประชุมคณะผู้บริหารของกรุงเทพมหานคร เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม ที่ผ่านมาว่า ขอให้ผู้บริหารเร่งรัดติดตามเรื่องการติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่าง ตามนโยบาย “กรุงเทพฯ ต้องสว่าง” ถือเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญในอันดับต้นๆ เนื่องจากเป็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชน อีกทั้งยังเป็นการเตรียมพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนกรุงเทพมหานครด้วยความอุ่นใจอีกด้วย และกทม.ติดตามสถานการณ์หาบเร่แผงลอย ย้ำบริบทของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
ปัจจุบันกรุงเทพมหานครมีไฟฟ้าส่องสว่างที่อยู่ในความดูแลทั้งหมดกว่า 4 แสนดวง ที่ผ่านมาได้มีการสำรวจและรับแจ้งร้องเรียนพบว่ามีไฟฟ้าดับ ชำรุดต้องซ่อมแซมประมาณ 2.5 หมื่นดวง สำนักการโยธาได้จัดทำโครงการจ้างเหมาแบ่งเป็น 7 สัญญา ช่วงแรกกำลังจะดำเนินการโดยกำหนด 5,000 ดวงให้เสร็จภายในเดือนเมษายน ส่วนช่วงอื่นๆ คาดจะเริ่มซ่อมได้ตั้งแต่ปลายมีนาคมเป็นต้นไป นอกจากนี้ยังได้สำรวจเพิ่มเติมจุดที่ต้องปรับปรุงแก้ไข จากจำนวนทั้งหมด 6,440 เส้นทาง เบื้องต้นที่มีการรายงานเข้ามา 21 เขต พบว่ามีจุดที่หลอดไฟดับ 2,804 ดวง จากที่สำรวจแล้ว 23,350 ดวง ซึ่งในส่วนนี้ดำเนินการแก้ไขโดยใช้เจ้าหน้าที่เขต หรือสำนักการโยธาในบางส่วน บางส่วนจ้างเหมาเอกชน และบางส่วนจะจ้างการฟ้านครหลวงดำเนินการ พร้อมกันนี้ให้เร่งสำรวจส่วนที่เหลือครอบคลุมพื้นที่ และเร่งซ่อมแซมเพื่อเพิ่มแสงสว่างและความปลอดภัยให้กับประชาชน โดยจะมีการรายงานความคืบหน้าต่อฝ่ายบริหารทุกสัปดาห์
สำหรับความคืบหน้าในการซ่อมไฟฟ้าแสงสว่างเสาประติกรรม หรือเสาเขียว ในถนน 4 สาย ถนนสุขุมวิท ซ่อมแล้ว 256 ดวง จาก 410 ดวง ถนนทองหล่อง ซ่อมแล้ว 170 ดวง จาก 246 ดวง ถนนเทอดไท ซ่อมแล้ว 478 ดวง จาก 512 ดวง และถนนอินทรพิทักษ์ อมแล้ว 193 ดวง จาก 233 ดวง ทั้งหมดกำหนดจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคมนี้
กทม.ติดตามสถานการณ์หาบเร่แผงลอย ย้ำบริบทของแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
ผู้ว่าฯ ชัชชาติ กล่าวเพิ่มเติมเรื่องสถานการณ์หาบเร่แผงลอยในกรุงเทพฯว่า ในเรื่องของแผงค้าหาบเร่ เราคุยกันเข้าใจและต้องดูแลซึ่งกันและกันโดยไม่ใช้ความรุนแรง คนเดินถนนต้องมาเป็นอันดับหนึ่งแต่หากพอมีพื้นที่เหลือที่ไม่เกะกะรกรุงรัง ก็อาจให้คนมาทำมาหากินได้บ้างก็ควรมีการแบ่งพื้นที่ต่อไป ซึ่งกทม.จะลงพื้นที่ทั้ง 50 เขตเพื่อสร้างแนวปฏิบัติ หากเส้นทางที่คนเดินทางเท้ามากเช่นเส้นทางรถไฟฟ้า ทางเข้าOffice ทำให้เกิดการกีดขวาง เดินยากและสกปรกก็จะต้องมีการแก้ไข กทม.มีการลงพื้นที่อยู่ตลอดและได้รับความร่วมมือที่ดีจากผู้ค้าส่วนใหญ่
อีกบริบทหนึ่งที่กทม.ต้องพิจารณาคือตลาดอัตลักษณ์ เช่น ถนนข้าวสาร ถนนเยาวราช และในอนาคตจะพิจารณาถึง โบ๊เบ๊ สำเพ็ง พาหุรัด ซึ่งจุดมุ่งหมายของคนที่ไปคือการเดินซื้อของหรือเที่ยวอยู่แล้วและเป็นอัตลักษณ์ในพื้นที่ พื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เน้นการสัญจร ไม่ใช่เส้นทางทำงานแต่เน้นการค้าขาย ในกรณีนี้อาจมีการหารืออีกครั้งโดยต้องมีความร่วมมือจากหลายภาคส่วน
สำหรับขณะนี้กทม.มีจุดผ่อนผันประมาณ 100 กว่าจุด และการทบทวนก็ยังไม่มีเพิ่มเติม และกทม.ก็ไม่อยากให้มีเพิ่มเพราะเป็นพื้นที่สาธารณะ จึงควบคุมไม่ให้เพิ่มจำนวนหากลดได้ก็ควรลด หากจัดให้อยู่ในพื้นที่ที่ไม่สร้างความเดือดร้อนได้ก็ควรทำเลย แต่ต้องดูสถานการณ์ก่อนว่าพฤติกรรมเป็นอย่างไรบ้าง ช่วงที่ผ่านมามีการเก็บข้อมูลต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อปรับปรุงและพัฒนาต่อไป