Travel Sport & Soft Power
ยางตลาดจัดสืบสานประเพณีโบราณบูชา พระแม่โพสพนำข้าวเปลือกช่วยคนจน
กาฬสินธุ์-ชาวบ้านในตำบลบัวบาน อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ ร่วมสืบสานประเพณีโบราณบุญคูณลาน เพื่อความเป็นสิริมงคลหลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีเสร็จ พร้อมบวงสรวงพระแม่โพสพ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำพื้นที่ ดลบันดาลให้ข้าวนาปรังฤดูแล้งและกุ้งก้ามกราม พืชและสัตว์เศรษฐกิจได้ผลผลิตดี ค้าขายมีกำไร โดยข้าวเปลือกที่ได้จะจัดเป็นกองบุญ นำไปช่วยเหลือครัวเรือนยากจน ตามโครงการกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ที่ลานวัดลานธรรม วัดโพธิ์ชัยบ้านตูม หมู่ 4 และหมู่ 19 ต.บัวบาน อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ นางเสาวคนธ์ ชนะบุญ วัฒนธรรมอำเภอยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ เป็นประธานพิธีบวงสรวงพระแม่โพสพ สู่ขวัญข้าว และรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในงานประเพณีบุญคูณลาน โดยมีพระครูโพธิชยานุโยค เจ้าคณะตำบลบัวบาน เขต 1, นางละมุล ภักดีนอก ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 4, นายสเตทฉัน ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 19 พร้อมด้วยคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ร่วมงาน ท่ามกลางสภาพอากาศที่หนาวเย็น
นายสเตทฉัน ภูนาสูง ผู้ใหญ่บ้านตูม หมู่ 19 กล่าวว่า บุญคูณลาน ซึ่งชาวอีสานเรียกว่าบุญเดือนยี่ เป็นหนึ่งในงานบุญประเพณีโบราณตามฮีต 12 คอง 14 ของชาวอีสาน มีการสืบสานมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตข้าวนาปีเสร็จสิ้น เพื่อบวงสรวงบูชาพระแม่โพสพ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ดูแลรักษาพืชผลตามความเชื่อ แต่เดิมหลังจากชาวนาเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็จะปรับพื้นที่เป็นลานสำหรับนวดข้าว โดยนำมัดข้าวที่เกี่ยวแล้วมารวมกัน จากนั้นทำการนวดเป็นเมล็ดข้าวเปลือก เสร็จแล้วประกอบพิธีทำบุญ เพื่อความเป็นสิริมงคล จึงเป็นที่มาของคำว่าบุญคูณลาน โดยคำว่าลาน คือสถานที่สำหรับนวดข้าว ขณะที่คำว่าคูณลาน คือการเพิ่มเข้าให้เป็นทวีคูณ หรือทำให้มากขึ้นนั่นเอง
นายสเตทฉันกล่าวอีกว่า ในปัจจุบันวิถีชาวนาและการเก็บเกี่ยวผลผลิตเปลี่ยนไป มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตร คือรถเกี่ยวข้าวแทนแรงงานคน การทำลานสำหรับกองข้าวและนวดข้าวเลือนหายไป แต่ประเพณีบุญคูณลานก็ยังคงอยู่ มีการสืบสานมาอย่างต่อเนื่อง และมีการประยุกต์รูปแบบไปตามยุคสมัย และตามความพร้อมของชุมชน สำหรับบุญคูณลานของชาวบ้านตูมครั้งนี้ ได้ประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านนำข้าวเปลือกมารวบรวมเป็นกองบุญ บางคนบริจาคเป็นเงินสดและปัจจัยอื่นๆ ทั้งนี้ กองบุญดังกล่าว จะได้ดำเนินการจัดสรรไปช่วยเหลือครัวเรือนยากจน และผู้ด้อยโอกาส ตามโครงการกาฬสินธุ์แฮปปี้เนส โมเดล คนกาฬสินธุ์ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังต่อไป
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากชาวบ้านตูม มีการประกอบอาชีพทำนา โดยทำทั้งนาปี นาปรัง และเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เป็นอาชีพหลัก ในพิธีบวงสรวงพระแม่โพสพ สู่ขวัญข้าว และรำบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในงานประเพณีบุญคูณลานครั้งนี้ นอกจากจะนำเมล็ดข้าวเปลือกนาปี และบริจาคปัจจัยเป็นกองบุญแล้ว ยังได้นำกุ้งก้ามกราม รวมทั้งพืชผัก ผลไม้ มาเป็นเครื่องบัตรพลีบูชาพระแม่โพสพและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ปู่หอใต้ ปู่หอเหนือ ที่ชาวบ้านตูมนับถือศรัทธา เพื่อความเป็นมิ่งมงคล ตลอดจนดลบันดาลให้ผลผลิตข้าวนาปรังที่กำลังเพาะปลูก และกุ้งก้ามกราม ได้ผลผลิตดี ค้าขายมีกำไร หลังจากหลายปีที่ผ่านมาประสบปัญหาขาดทุน