EDU Research & ESG

'จาร์วิส' แห่งโลกปัจจุบัน 'ChatGPT' สุดยอดปัญญาประดิษฐ์ 'ค้นหาคำตอบ'



ทำความรู้จักกับ “ChatGPT” แชทบอทปัญญาประดิษฐ์ของ OpenAI  ที่ไมโครซอฟท์สนับสนุนอยู่ หลังเกิดขึ้นมาแล้วผู้คนทั่วโลกได้ลองใช้ เกิดกระแสชื่นชม จนทำให้กูเกิลก็กลัวจะมาล้มธุรกิจหลักของตัวเอง เพราะ ChatGPT ไม่ได้แค่ช่วยหาข้อมูล แต่เป็นอับดุล คิดด้วย ถามได้ ตอบได้   

ลองจินตนาการดู หากเรามีผู้ช่วยเงินเดือน  1,300 บาทต่อเดือน แต่ฉลาดเหลือหลาย ช่วยทำการบ้านได้ ช่วยทำรายงานได้ ช่วยคิดสูตรอาหารได้  อยากจะรู้อะไร หาข้อมูลอะไร “คำตอบ” ที่เราสงสัยใคร่รู้เหล่านั้นก็จะพลันปรากฏอยู่ตรงหน้าคุณในไม่กี่วินาที และแถมเก่งภาษา รู้จักการเรียบเรียงด้วยภาษาวิชาการที่สละสลวยถูกต้องตามหลักไวยากรณ์  ไม่ได้แค่ตัดแปะข้อมูล แต่ลำดับเรื่องราว ลำดับประเด็นอย่างมีเหตุและผลมีได้ รู้จักการคิดวิเคราะห์แยกแยะให้เสร็จสรรพพร้อมเสิร์ฟ ที่สำคัญสุดๆ คือ งานที่คิดออกมาจะไม่มีซ้ำหรือเหมือนใครอีกต่างหาก ขนาดนักวิชาการหลายท่านเอาไปตรวจการลอกเลียนแบบผลงาน หรือ Plagiarism ก็พบแค่ 5% ซึ่งถือว่ายอมรับได้  ทำให้ ChatGPT แตกต่างจาก Search Engine อย่างกูเกิล และ ต่างจากเว็บไซต์ข่าวสาร ให้บริการข้อมูลปกติ  ที่ทำได้แค่เราไปสืบค้นข้อมูลทั่วไปที่มีอยู่บนโลกนี้แล้ว ซึ่งเราจะต้องนำข้อมูลในแต่ละแหล่งมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ ผสมร้อยเรียงเองอีกต่อหนึ่ง

และด้วยระบบปฏิบัติการสุดล้ำของ “ChatGPT” นี้ทำให้หลังการเปิดตัวเพียง 5 วัน ก็มีผู้ใช้งานครบ 1 ล้านคนแรก เรียกว่ารวดเร็วกว่าโซเชียลมีเดียยอดฮิตอย่าง Facebook, Instagram และTwitter ที่สถิติเดิม ต้องใช้ระยะเวลาหลายเดือนหรือเป็นปีกว่าจะได้ผู้ใช้ถึงตัวเลขนี้

“มันคือแชทบอทแต่ว่าเป็นแชทบอทที่เก่ง เก่งมากๆ เหมือนจาร์วิสในหนังไอรอนแมนที่คอยเป็นผู้ช่วยคอยเป็นเลขา” ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ผู้เชี่ยวชาญสายวิศวะคอมฯ ให้นิยามถึง AI อย่าง “ChatGPT” ที่ทำให้ทั่วโลกยอมรับในความสามารถดังกล่าว

กำเนิดอัจฉริยะปลายนิ้ว

“ChatGPT”  ถูกสร้างขึ้นในปี 2018 ด้วยฝีมือของกลุ่มคนนักพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีที่ชื่อว่า “OpenAI” ซึ่งมีคนดังๆ อย่าง  อีลอน มัสก์ และ ไมโครซอฟท์ เป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งกับเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งหวังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีจริยธรรม เป็นปัญญาประดิษฐ์ที่เป็นไปในแนวทางที่ดี ไม่ไร้ทิศทาง จนกลับมาทำร้ายมนุษย์ได้ อย่างเช่นปัญญาประดิษฐ์อื่นๆ ที่สร้างขึ้น เป็นบอท มาเอาชนะมนุษย์ในเกมส์ต่างๆ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันระบบได้พัฒนามาถึงในเวอร์ชั่น 3.5 เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา มีชุดความรู้สูงถึง 175 พันล้านชุดข้อมูลในฐานองค์ความรู้

ดร.ชัยพร  กล่าวต่อไปว่า “เฉลี่ย 1 ปี ฐานข้อมูลความรู้ก็จะถูกอัพเดทขึ้นอย่างมหาศาล อย่างในสองเวอร์ชั่นแรกก็มีชุดข้อมูลความรู้กว่า 117 ล้านชุดข้อมูล และ 1.5 พันล้านชุดข้อมูลในเวอร์ชันที่ 2  พอเวอร์ชั่นที่ 3 เกิดขึ้นมา 175 พันล้านชุดข้อมูล ประมาณ 100 กว่าเท่าของข้อมูลก่อนหน้า  ซึ่งถือว่ามีความสามารถค่อนข้างก้าวกระโดด มีความถูกต้องมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็มีเหตุมีผล ก็มีจริยธรรมในคำตอบพอสมควร ฉะนั้นถ้าถามในแนวทางที่ผิดศีลธรรมก็จะไม่ตอบ เช่น ถามวิธีแฮกข้อมูลเว็บไซต์หรือทำอะไรไม่ดี ก็จะไม่มีคำตอบ ที่บอกเหมือนจาร์วิสในหนัง คืออย่างถ้าเราต้องการซื้ออุปกรณ์นั้นนี้ 1-2-3-4-5 ในเงื่อนไขราคาถูกที่สุด มันก็จะลิสต์รายการบอกเลยว่าสามารถหาซื้อได้ที่ไหน 1-2-3-4-5 ตามที่เราถาม เพราะฐานข้อมูลในคลังที่ถูกบรรจุนั้นใหม่มาก แม่นมาก และ ใหญ่มาก องค์ความรู้ที่เราได้จึงมีตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน”

ช่วยคนทำงานรังสรรค์สร้างผลงานเทพ

ความสามารถของ ChatGPT มีความหลากหลายไม่ว่าจะเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เขียนนิยาย เขียนนิทาน แต่งเพลง ทำรายงานให้ ฯลฯ โดยแต่ละครั้งผลลัพธ์ที่ได้ก็เรียบเรียงต่างกัน ขึ้นอยู่กับคีย์เวิร์ดและหัวข้อในการถามของผู้ใช้งาน โดยจากการทดสอบองค์ความรู้ปัญญาประดิษฐ์ตัวนี้สามารถผ่านการทำข้อสอบของแพทย์อย่าง US medical licensing examination หรือกระทั่งหลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ได้สบายๆ ในระดับคะแนนหัวกะทิเรียนดีเกรด B+

ดร.ชัยพร แนะนำว่า ChatGPT ทำอะไรได้มากกว่าที่คิด  “ช่วยในการเขียนบทความส่งสื่อมวลชน ช่วยวางแผนทำเนื้อหานำเสนอ  ช่วยในการวิจัย หาข้อมูล ช่วยทำให้งานที่เกี่ยวกับการทำ SEO ง่ายขึ้น ในแง่ของตัวช่วย SMEs ในการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง  และ ยิ่งผู้ใช้มีความรู้และแก่นในเรื่องที่จะถามมากเท่าไหร่ก็ยิ่งค้นหาได้ง่าย ตัวอย่างเช่นการเขียนนิทาน เราเพียงกำหนดขอบเขตโครงของเรื่อง  เด็กชาวเขาที่มีความ อยู่กับตายาย ขยันหมั่นเพียรและสุดท้ายประสบความสำเร็จ  ตัว ChatGPT ก็จะค่อยๆ รันอักษรออกมา 5-10 คำต่อวินาทีให้เราได้อ่านร่วมไปด้วยทันก่อนจะครบหมด เหมือนคนกำลังนึกคิดและค่อยๆ บอกคำตอบ ซึ่งในระหว่างนั้นถ้าเราอยากจะขยายเพิ่มก็พิมพ์คำถามเพิ่ม ระบบก็จะเสริมและร้อยเรียงเรื่องเพิ่มเข้าไปให้โดยอัตโนมัติ”

“หรืออย่างเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เราอยากได้โปรแกรมหน้าตาแบบนี้ ให้โปรแกรมทำงานแบบนี้ ด้วยภาษา Python หรือ Java เดี๋ยวก็จะค่อยปรากฏไล่เขียนโปรแกรมให้เรา เราก็ปรับปรุงให้ถูกต้องบ้างและก็อปปี้ไปใช้ได้เลย เพราะตัวโครงหลักเขียนค่อนข้างถูก แถมสวยงามและก็รวดเร็วเทียบเท่าคนเขียนโปรแกรมคล่องๆ คนหนึ่งเลย คือเป็นมือเป็นไม้ช่วยเสริม 70%  แล้วอีก 30% เราไปประกอบต่อเติมให้ครบตามที่เราต้องการ ก็ช่วยให้เราทำงานได้ดีขึ้นนอกจากในเรื่องของระยะเวลาการทำงานที่รวดเร็ว สามารถทุ่นแรงในการสืบค้นและเรียบเรียงไปได้มากเลยอันนี้คือข้อดีของ AI ตัวนี้”

อาจกระทบงานบางอย่าง และเด็กวัยเรียนรู้

ความน่ากังวลที่มีก็เช่น การทำงานแทนมนุษย์ได้ในงานบางอย่าง เช่น Call center หรืองานธุรการ เป็นต้น ซึ่งก็ต้องดูกันต่อไปในระยะยาว ส่วนที่น่ากังวลมากกว่าก็การเรียนของเด็กนักเรียน น่าศึกษา

 “ในสหรัฐอเมริกา รัฐนิวยอร์ก ทางหน่วยงานด้านการศึกษาถึงกับได้มีการแบนการใช้งาน ChatGPT ออกจากระบบเครือข่ายที่เข้าถึง เพราะมีความกังวลว่าอาจกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็กหรือนักเรียน นักศึกษา เพราะไม่เหมือนกูเกิลที่เมื่อหาข้อมูลก็จะต้องไปกรองศึกษาอีกขั้นก่อนจะหยิบจับมาผสมร้อยเรียง มีขั้น 1 ก่อนจะไปขั้น 2 ก็ต้องผ่าน 1.1 กับ 1.2 ก่อน แต่อันนี้สรุปมาเลยมี 1-2-3-4-5 ให้ เรียงร้อยให้เรียบร้อยให้มาเลย กรณีนักเรียนและนักศึกษาในเรื่องของรายงาน เรื่องของวิทยานิพนธ์ ก็อาจจะขาดการศึกษาเรียนรู้   ขาดการลองผิดลองถูก หรือบางทีค้นคว้าเองไปก็จะไปเจอเรื่องที่นอกเหนือเราศึกษาก็ได้ความรู้เพิ่มไปได้”

นอกเหนือไปจากความกังวลที่อาจจะมีผลเสียต่อเด็กในวัยเรียน ข้อจำกัดของ ChatGPT ตอนนี้มีเพียงข้อเดียวในตอนนี้คือผู้ใช้อาจจะต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก ในส่วนของผู้ใช้งานแปลภาษาอื่นหลังได้คำตอบเช่น ภาษาไทย อาจจะได้ผลลัพท์ไม่ครบ และอาจจะต้องถามต่อไปเรื่อยๆ

“ตอนนี้ล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน ไมโครซอฟท์ ก็เพิ่งจะเพิ่มทุน 10 เท่า จากเดิม 1 พันล้านดอลลาร์มาเป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์ มูลค่ากว่า 3 แสนกว่าล้านบาท ก็คาดการณ์ได้เลยว่าจะเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของกูเกิลสามารถที่จะทดแทนกูเกิลได้เลยในเรื่องของการรีเสิร์ชหาข้อมูลต่างๆ   อย่างไรก็ตามโดยสรุป ผมอยากให้คนไทยลองใช้ก่อน แน่นอนว่าเราคงไปแข่งขันสร้าง ChatGPT อีกอันกับเขาไม่ได้ แต่เราอาจจะใช้เพื่อต่อยอดได้ นักศึกษาที่เรียนในสาขาวิชาต่าง ๆ เช่นวิศวะฯ ต่างก็มุ่งมั่นที่จะใช้ตรงนี้ เอามาต่อยอดงานของตัวเอง  เราอาจจะเอา ChatGPT เป็นฐานองค์ความรู้ที่จะช่วยให้เรามีความสามารถมากขึ้นในด้านต่างๆ เสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของพี่น้องประชาชนคนไทยเราให้มีศักยภาพมากขึ้น นอกจากนี้อยากส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เรียนเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเรื่อง AI ตอนนี้เราควรศึกษาและพัฒนา AI ของเราเองที่เหมาะกับประเทศไทยเรา เช่น AI เพื่ออุตสาหกรรมการเกษตร หรือ  อุตสาหกรรมการประมงใช้ AI คัดคุณภาพปลา วิเคราะห์พันธุ์ปลา มันจะเป็นเรื่องเฉพาะต่อยอดได้ง่ายไม่แพ้แชทบอท ChatGPT นี้”  ดร.ชัยพร กล่าวสรุป