In News

เปิดโครงการลงทุนขนส่งทางน้ำรอบ4ปี รัฐฯหนุนท่าเรือสินค้า/ท่องเที่ยวกว่าแสนล.



กรุงเทพฯ-เปิดโครงการลงทุนขนส่งทางน้ำ รัฐบาลลุยเติมศักยภาพแข่งขันการค้าระหว่างประเทศ หนุนภาคท่องเที่ยว พร้อมอำนวยความสะดวกเพิ่มความปลอดภัยการเดินทางของประชาชน

วันที่ 20 ก.พ. 66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงเกือบ 4 ปีที่ผ่านมาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำ เป็นหนึ่งในระบบคมนาคมที่รัฐบาลเล็งเห็นความสำคัญและเร่งรัดลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ทั้งด้านการค้าระหว่างประเทศ การท่องเที่ยว และการเดินทางของประชาชน เติมเต็มระบบขนส่งภาพรวมของประเทศให้สมบูรณ์  ซึ่งการลงทุนด้านคมนาคมที่ต่อเนื่องได้ส่งผลให้อันดับดัชนีประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ (Logistic Performance Index : LPI) จากการจัดอันดับของธนาคารโลกของไทยล่าสุดขยับขึ้นมาอยู่อันดับที่ 32 จาก 167 ประเทศทั่วโลก เทียบกับการจัดอันดับครั้งก่อนหน้าในปี 59 ที่ไทยอยู่อันดับที่ 45

ปัจจุบันรัฐบาลอยู่ระหว่างการลงทุนโครงข่ายการขนส่งทางน้ำขนาดใหญ่หลายโครงการ ซึ่งในส่วนสนับสนุนภาคการค้าและอุตสาหกรรม ประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ในพื้นที่อีอีซี มูลค่าการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน 6.4 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติและวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี แบ่งการลงทุนเป็น 2 ช่วง ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาช่วงที่1 ซึ่งเป็นงานโครงสร้างพื้นฐาน และคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนสำหรับช่วงที่2

นอกจากนี้ในอีอีซียังอยู่ระหว่างพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มูลค่าลงทุน 1.14 แสนล้านบาท ร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชนเช่นกัน ถือเป็นโครงการใหญ่ที่จะเพิ่มศักยภาพการนำเข้า-ส่งออกทางเรือของประเทศไทย โดยเมื่อพัฒนาโครงการเสร็จสิ้นจะสามารถรองรับตู้สินค้าได้ถึง 18.10 ล้านTEUs จากเดิม 11.10 ล้านTEUs ส่วนท่าเรือเพื่อการค้าในพื้นที่กรุงเทพฯ มีโครงการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพฝั่งตะวันตกเป็นท่าเรืออัตโนมัติ (Automated Container Terminal) เพื่อบริหารจัดการลานวางตู้สินค้าให้ได้เต็มประสิทธิภาพ

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ด้านการพัฒนาเส้นทางเดินเรือเพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวและเพิ่มทางเลือกการเดินทางจากภาคตะวันออกไปยังภาคใต้ของประชาชน กระทรวงคมนาคมได้ร่วมกับภาคเอกชนเปิดให้บริการเรือ RoRo Ferry เส้นทางสัตหีบ-เกาะสมุย

ส่วนการสนับสนุนการเดินทางของประชาชนและส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำในกรุงเทพฯและปริมณฑล มีลงทุนตามแผนพัฒนาท่าเรือสาธารณะในแม่น้ำเจ้าพระยา จำนวน 29 แห่ง เพื่อเพิ่มความสะดวก ปลอดภัยทางน้ำและพัฒนาเป็นท่าเรืออัจฉริยะเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นอย่างรถและรางอย่างไร้รอยต่อ ซึ่ง ณ สิ้นปี  65 ดำเนินการเสร็จไปแล้ว 8 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือกรมเจ้าท่า,ท่าเรือสะพานพุทธ,ท่าเรือนนทบุรี, ท่าเรือท่าช้าง, ท่าเรือสาทร, ท่าเรือพายัพ, ท่าเรือราชินีและท่าเรือบางโพ ในปี 66 จะพัฒนาเพิ่มอีก 3 แห่ง ได้แก่ ท่าเรือท่าเตียน ท่าเรือพระราม 7 และท่าเรือเกียกกาย

นอกจากนี้ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในระบบขนส่งทางน้ำ โดยผลักดันให้มีการนำเรือโดยสารไฟฟ้ามาให้บริการทั้งในการขนส่งทางทะเล ในแม่น้ำ และลำคลอง ซึ่ง ณ ปี 65 มีเรือให้บริการทั้งหมด 51 ลำ และจะเพิ่มเป็น 69 ลำ ในปี 2566

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในปี 2566 รัฐบาลยังคงสานต่อการพัฒนาโครงข่ายการขนส่งทางน้ำหลายโครงการ ทั้งที่อยู่ระหว่างการลงทุนต้องขับเคลื่อนให้เป็นไปตามแผนงาน ริเริ่มโครงการใหม่ เช่น การจัดทำแผนแม่บทเพื่อพัฒนาท่าเรือสำราญ (Marina) ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย การศึกษาความเป็นไปได้เพื่อจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ ขับเคลื่อนการพัฒนาท่าเรือบก(Dry Port) ที่จ.ฉะเชิงเทรา ขอนแก่น นครราชสีมา และนครสวรรค์ เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าที่มีประสิทธิภาพ เชื่อมโยงโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงการพัฒนา Landbridge เชื่อม 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันที่ชุมพร-ระนอง ให้เป็นรูปธรรม