In News

เคาะผลการคัดเลือกเอกชเข้าร่วมลงทุน ศูนย์ขนส่งชายแดนนครพนม'จีน-เวียดนาม'



กรุงเทพฯ-ครม. เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม หนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจในพื้นที่ รองรับการนำเข้า-ส่งออกไปยังจีน เวียดนาม เพิ่มการค้าระหว่างประเทศด้วย One Stop Service

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 21 ก.พ. 66  ได้ เห็นชอบผลการคัดเลือกเอกชนและร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

การเสนอ ครม. ครั้งนี้ เป็นขั้นตอนต่อเนื่องจากที่ ครม. เมื่อ 29 ม.ค. 62 ได้อนุมัติให้กรมการขนส่งทางบกดำเนินโครงการฯ โดยให้เอกชนร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP  net Cost ซึ่งกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ โดยตั้งคณะกรรมการคัดเลือกฯ และประกาศเชิญชวนเอกชนร่วมลงทุนไป 2 รอบในวันที่ 28 มิ.ย.และ 6 ส.ค. 64 เมื่อสิ้นสุดระยะเวลามีผู้ยื่นเสนอร่วมลงทุน 1 ราย ได้แก่ บริษัท สินธนโชติ จำกัด ซึ่งบริษัทฯ ผ่านเกณฑ์การประเมินทั้งในด้านคุณสมบัติ(ซองที่1) ข้อเสนอด้านเทคนิค(ซองที่2) และข้อเสนอด้านราคา(ซองที่3)

โดยบริษัทฯ เสนอผลประโยชน์รูปแบบค่าสัมปทานแก่กรมการขนส่งทางบก ประกอบด้วย ค่าตอบแทนคงที่รายปี ตลอดอายุสัมปทาน จำนวน 30 งวด 298.36 ล้านบาท สูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำที่ ครม.ได้เห็นชอบในหลักการไว้ที่ 291.16 ล้านบาท และส่วนแบ่งรายได้กรณีที่ผู้ร่วมลงทุนมีผลประกอบการที่ได้กำไรที่ร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิปีนั้นๆ เท่ากับขั้นต่ำที่ ครม. อนุมัติให้หลักการไว้  ซึ่งคณะกรรมการคัดเลือกฯ ได้พิจารณาแล้วว่าบริษัทฯ ได้เสนอผลตอบแทนสูงกว่าผลประโยชน์ตอบแทนที่ ครม. ได้ให้หลักการไว้จึงได้เห็นชอบให้บริษัท สินธนโชติ จำกัด เป็นผู้ผ่านการประเมินสูงสุด แล้วดำเนินการตามขั้นตอนก่อนเสนอให้ ครม. เห็นชอบในครั้งนี้

 น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ก ภายใต้การร่วมลงทุนแบบ PPP Net Cost นั้น ภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุนค่าที่ดิน ค่าก่อสร้างพื้นฐานส่วนกลางและอาคารที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ค่าควบคุมงานก่อสร้างและบำรุงรักษาโครงร้างพื้นฐานรายปีในส่วนที่ภาครัฐใช้ประโยชน์ ส่วนเอกชนจะลงทุนค่าก่อสร้างในองค์ประกอบอาคารที่ก่อให้เกิดรายได้และเครื่องมือและอุปกรณ์และเอกชนรับผิดชอบในส่วนของการดำเนินงานและบำรุงรักษาโครงการ (Operation and Maintenance :O&M) ในส่วนอาคารและพื้นที่ใช้สอยในความรับผิดชอบของเอกชนและโครงสร้างพื้นฐานส่วนกลางตามกรอบระยะเวลา รวมทั้งเป็นผู้รับความเสี่ยงด้านรายได้และจ่ายค่าสัมปทานให้ภาครัฐตลอดระยะเวลา 30 ปี นับจากปีที่เปิดให้บริการ

โครงการศูนย์การขนส่งชายแดนจังหวัดนครพนม จะตั้งอยู่ที่ ต.อาจสามารถ อ.เมืองนครพนม บริเวณทิศใต้ของด่านพรมแดนนครพนมและด่านศุลกากรนครพนม มีเส้นทางเข้า-ออกหลักบริเวณทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 295 ซึ่งเป็นทางเข้าสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-คำม่วน)  มีขนาดพื้นที่โครงการ 121 ไร่ 3 งาน 67 ตรว. ซึ่งทางทิศใต้ของโครงการได้รับการออกแบบให้เชื่อมต่อและประชิดกับแนวการพัฒนาโครงการถไฟทางคู่สายบ้านไผ่-นครพนมของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เพื่อรองรับการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งระหว่างทางถนนและทางรางด้วย

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า โครงการฯ จะรองรับการขนส่งสินค้านำเข้า-ส่งออก จากทางตอนใต้ของจีนและตอนเหนือของเวียดนามกับภูมิภาคต่างๆ ของไทย เป็นศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้าตู้คอนเทนเนอร์หรือสินค้าบรรจุหีบห่อ(Break Bulk Cargo) และเป็นศูนย์ให้บรการเบ็ดเสร็จ(One Stop Service)ทำให้สามารถดำเนินการพิธีการที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าและส่งออกได้ ณ จุดเดียว

สำหรับการดำเนินการงานเพื่อลงทุนจะแบ่งเป็น 2 ระยะ  งานระยะที่1 เป็นการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง 6 รายการ ได้แก่ อาคารรวบรวมและกระจายสินค้าหลังที่1, อาคารคลังสินค้าทั่วไป, อาคารซ่อมบำรุง, โรงอาหารบริการทั่วไป, สถานีชั่งน้ำหนัก และห้องควบคุมไฟฟ้า รวมถึงการจัดหาและติดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานภายในพื้นที่โครงการ งานระยะที่2  ก่อสร้างสิ่งปลูกสร้าง 1 รายการ คืออาคารรวบรวมและกระจายสินค้าหลังที่2  รวมทั้งการจัดหาและติดตั้งเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานภายในพื้นที่โครงการ โดยจะเริ่มดำเนินการเมื่อมีสินค้าเข้ามารวบรวมในอาคารหลังที่1 เฉลี่ยทั้งปีมากกว่าร้อยละ 80 ของขีดความสามารถ หรือเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 18 ปี นับจากเปิดให้บริการ

ทั้งนี้ โครงการฯ จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษนครพนม ลดต้นทุนการขนส่งและโลจิสติกส์ให้ผู้ประกอบการขนส่งของไทย เกิดการจ้างงานภายในศูนย์การขนส่งชายแดนและลดความสูญเสียเนื่องจากอุบัติเหตุจากการขับรถบรรทุกเข้าไปใน สปป.ลาว เนื่องจากรถบรรทุกสามารถเปลี่ยนหัวลากหางพ่วงตู้คอนเทนเนอร์ภายในศูนย์การขนส่งชายแดนได้  นอกจากนี้ ยังเป็นการเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างประเทศและส่งเสริมบทบาทให้ จ.นครพนมมีความสำคัญมากขึ้นในฐานะเป็นจุดเชื่อมโยงทางการค้าในภูมิภาค