Biz news
PwCชี้นักลงทุนทั่วโลกเริ่มใส่ใจภูมิอากาศ แม้ยังขาดข้อมูลที่น่าเชื่อถือ

กรุงเทพฯ, 23 กุมภาพันธ์ 2566-PwC เผยผลสำรวจ Global Investor Survey ประจำปี 2565 ของ PwC ระบุว่า นักลงทุนกำลังจัดการกับภารกิจสำคัญหลายอย่างด้วยข้อมูลที่มีจำกัด โดยแม้ว่าเงินเฟ้อ (67%) และความผันผวนของเศรษฐกิจมหภาค (62%) ถือเป็นภัยคุกคามที่ใหญ่ที่สุดที่พวกเขามองว่า ธุรกิจจะต้องเผชิญในช่วง 12 เดือนข้างหน้า แต่นักลงทุนเกือบครึ่งหนึ่ง (44%) ที่ถูกสำรวจเชื่อว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรเป็นภารกิจสำคัญห้าอันดับแรกสำหรับธุรกิจ ตรงกันข้ามกับเปอร์เซ็นต์การจัดอันดับที่ต่ำกว่าของประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เช่น การปกป้องสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงาน (27%) และการปรับปรุงความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของกำลังแรงงาน (25%) ขณะที่ลำดับความสำคัญสูงสุดสำหรับธุรกิจที่นักลงทุนระบุ คือ นวัตกรรม (83%) ตามมาด้วยการเพิ่มผลกำไร (69%)
"44% ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจกล่าวว่า การแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ควรเป็นภารกิจสำคัญห้าอันดับแรกของบริษัทต่าง ๆ 78% ของนักลงทุนเชื่อว่า ‘การฟอกเขียว’ หรือการอ้างเพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่รับผิดชอบต่อสังคมและรักษ์โลก แต่ไม่ได้มีการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจริง กำลังแพร่หลายในการรายงานความยั่งยืนขององค์กรการให้ความสำคัญกับสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นวาระสำคัญสำหรับนักลงทุน โดยเกือบสองในสามกล่าวว่าผลตอบแทนจากการลงทุนที่เพิ่มขึ้น คือ แรงจูงใจที่สำคัญ รายงานความยั่งยืนที่ได้มาตรฐานในประเทศไทย ยังคงจำกัดอยู่ในบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจกับต่างประเทศเท่านั้น"
ประเด็นปัญหาความน่าเชื่อถือ
อย่างไรก็ดี นักลงทุนกำลังเผชิญกับสภาพแวดล้อมด้านข้อมูลข่าวสารที่ยุ่งยาก และมีระดับความน่าเชื่อถือในการรายงานความยั่งยืนขององค์กรที่ต่ำ นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อว่า รายงานขององค์กรประกอบด้วยการกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์เกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืนของบริษัท โดยสามในสี่ (78%) กล่าวว่า ‘คำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์’ มีอยู่ในระดับปานกลาง มาก หรือมากที่สุด โดยเพิ่มขึ้นเป็น 87% เมื่อรวมผู้ที่กล่าวว่า มีข้อมูลในระดับจำกัด และมีเพียง 2% เท่านั้นที่กล่าวว่า การรายงานขององค์กร ไม่มีคำกล่าวอ้างที่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์เกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลการดำเนินงานด้านความยั่งยืน
นาย ชาญชัย ชัยประสิทธิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า ‘จริงอยู่ว่า นักลงทุนไทยเริ่มให้น้ำหนักกับรายงานความยั่งยืนกันมากขึ้น และถูกนำมาใช้เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ประกอบการพิจารณาการลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยปัจจุบันนักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในช่วงของการเรียนรู้และทำความเข้าใจกับรายงานความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน แต่อย่างไรก็ดี รายงานความยั่งยืนของบริษัทไทยที่ได้มาตรฐาน ยังจำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจ หรือเป็นคู่ค้ากับต่างประเทศเท่านั้น ดังนั้น การได้รับการตรวจสอบ ESG Assurance จากหน่วยงานหรือผู้สอบบัญชีที่น่าเชื่อถือ จะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นให้กับรายการที่บริษัทได้ทำการเปิดเผยให้แก่นักลงทุน’
นอกจากนี้ ข้อมูลจากสถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือด้าน ESG ก็ไม่ได้เติมเต็มช่องว่างของความน่าเชื่อถือนี้ โดยมีเพียง 22% ของนักลงทุนที่ถูกสำรวจที่กล่าวว่า พวกเขาใช้สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับที่มาก หรืออย่างมาก
นาง นาดจา พิคาร์ด หัวหน้ากลุ่มธุรกิจการรายงานทั่วโลก PwC ประเทศเยอรมนี กล่าวว่า ‘เมื่อนักลงทุนเกือบแปดในสิบบอกเราว่า พวกเขาสงสัยว่าจะมีการฟอกเขียวในรายงานความยั่งยืนขององค์กร บริษัทและหน่วยงานกำกับดูแลควรต้องตระหนักในเรื่องนี้ การขาดความไว้วางใจกำลังเป็นเป็นปัญหา เนื่องจากข้อมูลด้านความยั่งยืนมีความสำคัญมากขึ้นต่อการตัดสินใจของทั้งนักลงทุนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่น ๆ จึงมีความจำเป็นที่บริษัทต่าง ๆ จะต้องปรับปรุงข้อมูล ระบบ และการกำกับดูแลของตนเอง ในส่วนของหน่วยงานกำกับดูแล ควรมุ่งเน้นไปที่การรายงานและมาตรฐานการรับรองรายงานที่สอดคล้องกันทั่วโลกและทำงานร่วมกันได้’
การมุ่งเน้นด้านสภาพภูมิอากาศ เป็นภารกิจสำคัญเชิงพาณิชย์
ทั้งนี้ นักลงทุนที่ถูกสำรวจเห็นว่า การจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ โดยสองในสาม (64%) กล่าวว่า การมุ่งเน้นการลงทุนด้าน ESG นั้น มาจากความปรารถนาที่ต้องการเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน และ 68% กล่าวว่า การปกป้องผลตอบแทนจากการลงทุนก็เป็นแรงจูงใจเช่นกัน ขณะที่นักลงทุนมากถึง 82% กล่าวว่า เป็นการตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า
การฟอกเขียว (Greenwashing) คือ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสร้างภาพลักษณ์ให้ผู้บริโภคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเชื่อว่า สินค้า เป้าหมาย และนโยบายขององค์กร มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม