In News

'บัตรทองพรีเมี่ยม'นวัตกรรมผ่าตัดใน1วัน ย้ำใช้เทคโนฯลดแออัด-มีเตียง-ประหยัด



กรุงเทพฯ-"ทิพานัน"ชูบริการ "นวัตกรรมผ่าตัดวันเดียว" บัตรทองพรีเมี่ยมของรัฐบาลย้ำใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัย ประชาชนได้รักษาไว ลดแออัด-ลดรอเตียงว่าง-ลดค่าใช้จ่าย

วันนี้ (25 ก.พ. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  กล่าวว่า ขอประชาสัมพันธ์ไปยังพี่น้องประชาชนถึงบริการบัตรทองพรีเมี่ยม มีการเพิ่มนวัตกรรมการบริการด้านการลดความแออัดที่โรงพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่สะดวก รวดเร็ว มีมาตรฐานและความปลอดภัย คือ บริการผ่าตัดวันเดียวกลับ (One Day Surgery: ODS) และการผ่าตัดแผลเล็กหรือผ่าตัดผ่านกล้อง (Minimally Invasive Surgery: MIS) โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2561 และพัฒนาเพิ่มเติมทุกปี

ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของประชาชนและช่วยให้แพทย์พยาบาลมีเวลาให้บริการผู้ป่วยอาการหนักที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ สร้างความทั่วถึงและเท่าเทียมกันในการรักษาพยาบาลและความยั่งยืนของระบบสุขภาพซึ่งการบริการผ่าตัดวันเดียวเริ่ม ในปี 2561 มี หัตถการ 12 รายการและมีการเพิ่มเติม 12 รายการในปี 2562, เพิ่มเติม 7 รายการในปี 2563, เพิ่มเติม 11 รายการในปี 2564, เพิ่มเติม 20 รายการในปี 2565 จนในปี 2566  จะให้บริการผ่าตัดวันเดียวกลับทั้งสิ้น 67 รายการ ทั้งนี้ประชาชนสามารถโทรถาม 1330 สายด่วน สปสช. ถึงสิทธิในการรักษาได้ตลอด 24 ชม. หรือสอบถามใน แอป สปสช. ได้เช่นกัน 

การผ่าตัดแบบนี้ แพทย์จะเป็นผู้ประเมินรอบด้าน เพื่อความปลอดภัยสูงสุด ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าช่วยบริการรักษา เป็นการผ่าตัดแบบนี้ไม่ต้องรับเป็นผู้ป่วยในและอยู่โรงพยาบาลไม่เกิน 24 ชั่วโมง  ผู้ป่วยไม่ต้องนอนพักค้างคืน สามารถช่วยเหลือตัวเองและกลับบ้านได้ภายในวันเดียว นอกจากจะทำให้ลดเวลานอนในโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ  ที่สำคัญลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยและญาติระหว่างมาโรงพยาบาลแล้วเฉลี่ยคนละ 1,600 บาท  และยังช่วยลดระยะเวลารอคอยผ่าตัดเนื่องจากไม่ต้องรอเตียงว่าง ส่งผลให้ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานและปลอดภัย   ซึ่งโรคหรือภาวะที่สามารถรับบริการผ่าตัดแบบวันเดียวกลับ เช่น โรคไส้เลื่อนที่ขาหนีบ ริดสีดวงทวาร เส้นเลือดดำโป่งพองในหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร ภาวะเลือดออกผิดปกติทางช่องท้อง ภาวะอุดตันของหลอดอาหารจากมะเร็งหลอดอาหาร นิ่วในท่อน้ำดี และโรคอื่นรวมแล้วถึง 67 รายการ 

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามารักษาประชาชน จึงได้ให้มีบริการการผ่าตัดด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยเป็นการผ่าตัดแบบทำลายเนื้อเยื่อน้อย แผลเล็กเจ็บน้อยฟื้นตัวไว คือ การผ่าตัดแผลเล็ก(Minimal Invasive Surgery :MIS) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงมากขึ้น กลับมาใช้ชีวิตตามปกติหลังการรักษาได้เร็วขึ้น  และไม่กระทบภาระค่าใช้จ่ายในครัวเรือน  ซึ่งมีการศึกษาว่าช่วยลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยประมาณรายละ 2 หมื่นกว่าบาท ซึ่งบริการนี้เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบันให้บริการใน 19 รายการ อาทิเช่น โรคนิ่วในถุงน้ำดี-ถุงน้ำดีอักเสบ โรคเนื้องอกกล้ามเนื้อมดลูกและรังไข่ โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ภาวะเอ็นไขว้หน้าขาดและการบาดเจ็บของหมอนรองกระดูก โรคไส้เลื่อนขาหนีบที่เป็นสองข้างและที่กลับเป็นซ้ำ การผ่าตัดไซนัสผ่านกล้องส่องเอ็นโดสโคปด้วยเครื่องมือตัดปั่นดูด การผ่าตัดไต ต่อมหมวกไต ไส้ติ่งผ่านกล้องทางหน้าท้อง โดยระบบบริการดังกล่าวครอบคลุมทั้ง 13 เขตสุขภาพ ทุกโรงพยาบาลศูนย์  โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนหลายแห่ง และยังจัดให้มีความสอดคล้องรับกับนโยบาย 3 หมอ โดยมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวให้การดูแลตรวจวินิจฉัย รับการผ่าตัดจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ติดตามดูแลเมื่อมาพักฟื้นที่บ้าน  โดยมีโรงพยาบาลทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการ