In News

เปิดรถไฟไทย-ลาว'หนองคาย-ท่านาแล้ง' จ่อเพิ่มขบวนวันละ16ขบวน(ไป-กลับ)



กรุงเทพฯ-“ทิพานัน” ย้ำรัฐฯทำแล้ว เปิดบริการรถไฟไทย-ลาว สถานีหนองคา-ท่านาแล้ง จ่อเพิ่มขบวนวันละ 16 ขบวน (ไป-กลับ) พ่วงขบวนละ25แคร่ปีนี้ บูมเศรษฐกิจ 2 ประเทศเชื่อมโยงภูมิภาค

วันนี้ (27 ก.พ. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลเร่งขับเคลื่อนการก่อสร้างเส้นทางขนส่งเชื่อมโยงภูมิภาค ก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจอาเซียนและเป็นจุดเชื่อมต่อที่สําคัญของภูมิภาคอาเซียน เพื่อยกระดับการเดินทาง การท่องเที่ยว ขนส่งสินค้าและบริการ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยปัจจุบันมีรถไฟเชื่อมต่อการขนส่งระหว่างไทย - สปป.ลาว - จีน ในเส้นทางสถานีหนองคาย – ท่านาแล้ง ที่สร้างเสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่เมื่อเมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา และเปิดให้บริการแล้ว โดยเปิดให้บริการทุกวัน วันละ 2 เที่ยว  เพื่อสนับสนุนให้เกิดการขนส่งระหว่างประเทศ สามารถท่องเที่ยวได้สะดวกสบายมากขึ้น  เชื่อมโยงภูมิภาค

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า โดยมีแผนในปี 2566-2568 จะปรับเพิ่มขบวนรถขนส่งสินค้าเป็นวันละ 16 ขบวน (ไป-กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ และตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไปจะเพิ่มขบวนรถเป็น 24 ขบวน (ไป-กลับ) พ่วงขบวนละ 25 แคร่ ซึ่งไม่รวมขบวนรถโดยสารระหว่างประเทศที่เดิมปกติมีให้บริการวันละ 4 ขบวน (ไป-กลับ) เพื่อให้สอดรับต่อความต้องการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

“ลงมือทำจริง โครงการเดินหน้าแล้วเสร็จสมบูรณ์เปิดให้บริการแล้ว ซึ่งช่วยให้การขนส่งสินค้าไทย-ลาวสะดวก ช่วยผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลา กระจายรายได้ สร้างงานในพื้นที่ตลอดเส้นทาง เป็นจุดหมายของนักท่องเที่ยวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ”น.ส.ทิพานัน กล่าว

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม รัฐฯไม่หยุดยั้งการพัฒนา เดินหน้าเชื่อมโครงข่ายการคมนาคมขนส่ง โดยเร่งขับเคลื่อนโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย - จีน ระยะที่ 1 ช่วงกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร 6 สถานี ได้แก่ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ ดอนเมือง อยุธยา สระบุรี ปากช่อง และสิ้นสุดที่นครราชสีมา วงเงินลงทุน 179,413 ล้านบาท ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) 1 แห่ง (เชียงรากน้อย) หน่วยซ่อมบำรุงทาง 2 แห่ง (สระบุรี และโคกสะอาด) รวมถึงการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟ 1 แห่ง ระยะทาง 12.23 กิโลเมตร (เฉพาะอุโมงค์ความยาว 8 กิโลเมตร) ตั้งอยู่ระหว่างสถานีอยุธยา และปากช่อง วงเงินลงทุน 4,279.33 ล้านบาท ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง มีกำหนดเปิดให้บริการปี 2570