In News

ไฟเขียวปรับแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐฯ กลุ่ม3ใน11จังหวัดจัดสรรที่ทำกินให้ปชช.



กรุงเทพฯ-ครม.เห็นชอบปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1:4000 One Map กลุ่ม 3 จำนวน 11 จังหวัด จัดสรรที่ทำกิน-ลดความเดือดร้อนของประชาชน พร้อมแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรีทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให

น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า ที่ประชุมครม. มีมติเห็นชอบผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map พื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ ปราจีนบุรี มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ชัยภูมิ สระแก้ว สุรินทร์ อุบลราชธานี เพชรบูรณ์ และ เลย (ยกเว้นกรณีอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี และให้หน่วยงานที่มีที่ดินอยู่ในความรับผิดชอบปรับปรุงแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map โดยใช้แผนที่ One Map ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบแล้วแทนแผนที่แนบท้ายกฎหมาย และใช้เป็นแนวเขตที่ดินของรัฐตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายใน 360 วัน และมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนให้เป็นไปตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 65 ที่ให้นำไปใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน และที่ประชุม ครม. ยังรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และ จ.ปราจีนบุรี ซึ่งเป็นกรณีเร่งด่วน

“การปรับปรุงแผนที่ One Map เป็นการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินเพื่อให้มีแนวเขตที่ดินของรัฐที่ถูกต้อง ทันสมัย อยู่บนมาตรฐานแผนที่มาตราส่วน 1 : 4000 ภายใต้แนวความคิด “หนึ่งพื้นที่ หนึ่งหน่วยงานรับผิดชอบ” มีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขความขัดแย้งและข้อพิพาทระหว่างหน่วยงานของรัฐกับประชาชน เนื่องจากที่ผ่านมาการกำหนดเขตประเภทที่ดินของรัฐมีความทับซ้อนกัน โดยไทยมีเนื้อที่ประมาณ 320.7 ล้านไร่ แต่จากข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพบว่า มีที่ดินของรัฐที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานรวมมากถึง 465.08 ล้านไร่ ซึ่งเกิดจากการมีกฎหมายกำหนดแนวเขตประเภทที่ดินของรัฐหลายฉบับและใช้มาตราส่วนในแผนที่แนบท้ายแตกต่างกันทำให้แนวเขตที่ดินทับซ้อนกัน โดยโครงการปรับปรุงแผนที่ One Map แบ่งพื้นที่ออกเป็น 7 กลุ่ม กลุ่มละ 11 จังหวัด เริ่มจาก กทม. และปริมณฑล ซึ่งที่ผ่านมา ครม. ได้มีมติเห็นชอบการปรับปรุง แผนที่ One Map ดังกล่าวไปแล้ว 2 กลุ่ม โดยพื้นที่กลุ่มที่ 1 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ นนทบุรี กรุงเทพมหานคร นครปฐม อ่างทอง สิงห์บุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สมุทรสาคร และสุพรรณบุรี และพื้นที่กลุ่มที่ 2 ประกอบด้วย 11 จังหวัด คือ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ชัยนาท ตราด นครนายก นครสวรรค์ ระยอง (ยกเว้นกรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า - หมู่เกาะเสม็ด) ลพบุรี ศรีสะเกษ และสระบุรี” น.ส.ทิพานัน กล่าว

สำหรับผลการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map ในพื้นที่กลุ่มที่ 3 จำนวน 11 จังหวัด โดยในภาพรวมพบว่า มีพื้นที่ก่อนปรับปรุงแนวเขตที่ดินของรัฐ รวม 89.9 ล้านไร่ ภายหลังปรับปรุงแนวเขตฯ มีพื้นที่ลดลงเหลือ 41.35 ล้านไร่ โดยมีแนวทางการแก้ไขปัญหาผลกระทบที่อาจขึ้นกับประชาชนใช้กับทุกกลุ่มจังหวัดเพื่อเป็นมาตรฐานเดียวกัน เช่น
1. กรณีการดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map แล้วปรากฏว่ามีที่ดินของหน่วยงานของรัฐที่จัดสรรให้กับประชาชนตามกฎหมายต่าง ๆ นอกเขตพื้นที่ตามกฎหมาย หรือนอกเขตดำเนินการของหน่วยงานนั้น ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง หากประชาชนที่ได้รับการจัดสรรที่ดินมีข้อโต้แย้ง ให้พิจารณาดำเนินการพิสูจน์สิทธิตามกฎหมาย และหาแนวทางแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือ เยียวยาประชาชนให้เป็นไปตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม

2. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าชายเลนตามมติ ครม. ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 61 โดยมีสาระสำคัญ เช่น เมื่อผ่านการตรวจสอบตามขั้นตอนแล้วว่าเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่เดิมจริง ให้หน่วยงานเจ้าของพื้นที่พิจารณาอนุญาตตามกฎหมายโดยไม่ให้เอกสารสิทธิ และอาจกำหนดเงื่อนไขให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแลอนุรักษ์พื้นที่ป่าด้วย

3. การช่วยเหลือเยียวยาประชาชนผู้ได้รับผลกระทบที่อยู่ในเขตที่ราชพัสดุและที่สาธารณประโยชน์ กรมธนารักษ์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ใช้แนวทางการแก้ไขปัญหาโดยการจัดให้เช่า การอนุญาตให้ใช้ประโยชน์ในที่ดิน หรือแนวทางอื่นที่เหมาะสมตามกฎหมาย

น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า นอกจากนี้ยังแนวทางการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรีนั้น การดำเนินการปรับปรุงแผนที่ One Map กรณีพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดเส้นแนวเขตของ ส.ป.ก. ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์การปรับปรุงแผนที่ One Map ข้อ 5.1 และข้อ 6.1 คือ
1. ข้อ 5.1 กรณีป่าสงวนแห่งชาติทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดินให้ใช้แนวเขต ตาม พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินที่มีแผนงานดำเนินการแล้วเป็นหลัก และกรณี พ.ร.ฎ.กำหนดเขตปฏิรูปที่ดินทั้งตำบล อำเภอ ที่ ส.ป.ก.ประกาศกำหนดเขตปฏิรูปในภาพรวมทั้งตำบลหรืออำเภอโดยไม่ได้กันบางพื้นที่ ที่เป็นพื้นที่ป่าออก มีแนวทางดาเนินการ เช่น ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินตามแผนที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้ ส.ป.ก. เป็นต้น

2. ข้อ 6.1  กรณีกรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ให้ ส.ป.ก. และได้มี พ.ร.ฎ.กำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินก่อนการกำหนดให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติฯ ให้ใช้แนวเขตปฏิรูปที่ดินเป็นหลัก เว้นแต่เป็นพื้นที่ที่ไม่สมควรนำไปปฏิรูปที่ดิน ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 1 มี.ค. 37 ให้ใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติฯ เป็นหลัก
 
“สำหรับกรณีพื้นที่นอกแนวเขตที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. ดำเนินการ แต่อยู่ภายในเขตเส้นปรับปรุงปี 2543 ที่ประชุม มอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบาย แนวทาง และมาตรการ การบริหารจัดการที่ดินและทรัพยากรดิน รับเรื่องไปพิจารณาว่าควรใช้แนวทางการดำเนินการที่เหมาะสมอย่างไรและให้นำเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาต่อไปเพื่อดำเนินการอย่างเร่งรัดแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ประชาชนประมาณ 300 ราย” น.ส.ทิพานัน กล่าว