EDU Research & ESG
งานศิลปะเชิญชวนผู้บริโภคใช้สิทธิตนเอง ในวันสิทธิผู้บริโภคสากล
กรุงเทพมหานคร-15 มีนาคม 2566 : เนื่องในโอกาสวันสิทธิผู้บริโภคสากล องค์กรพิทักษ์สัตว์ซิเนอร์เจีย แอนิมอลจัดกิจกรรมแสดงงานศิลปะด้านหน้าศูนย์การค้าบางซื่อ จังชั่น (ตึกแดง จตุจักร) ร่วมกับศิลปิน นานา ลาลา เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับผลกระทบของการใช้ระบบกรงขังในฟาร์มไข่ไก่ งานศิลปะแสดงภาพแม่ไก่ใช้ชีวิตแบบไร้กรงขังตามความเข้าใจของผู้บริโภคส่วนใหญ่ ซึ่งแตกต่างจากความเป็นจริงของอุตสาหกรรมไข่ไก่ไทยโดยสิ้นเชิง
“งานศิลปะชิ้นนี้สื่อถึงพื้นที่ปลอดภัยสำหรับแม่ไก่ ในอุตสาหกรรมไข่ไก่ แม่ไก่ต้องอยู่อย่างเบียดเสียดในกรงขังที่เล็กเสียจนพวกเขาเดินไปเดินมาไม่ได้ แม่ไก่ถูกมนุษย์อย่างเราเอารัดเอาเปรียบจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต และเรามักลืมไปว่า สัตว์ก็ต้องการพื้นที่ปลอดภัยเช่นเดียวกับเรา” ศิลปินนานาลาลา เจ้าของผลงานกล่าว
“เราอยากสนับสนุนให้ผู้คนใช้สิทธิของตนในฐานะผู้บริโภคเพื่อเรียนรู้ที่มาของอาหารและขั้นตอนในการผลิต” วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ผู้อำนวยการฝ่ายการมีส่วนร่วมของสาธารณชน – ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากซิเนอร์เจีย แอนิมอลกล่าว
ผู้บริโภคร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลง
หนึ่งในวิธีที่ผู้บริโภคสามารถใช้สิทธิของตัวเองเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงคือการลงชื่อในข้อเรียกร้องเพื่อขอให้กูร์เมต์ มาร์เก็ตประกาศนโยบายไข่ไก่ปลอดกรง เพื่อให้มั่นใจว่าไข่ไก่ที่ขายในทุกสาขาของกูร์เมต์ มาร์เก็ตไม่ได้มาจากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรง ผู้บริโภคที่สนใจสามารถลงชื่อได้ที่ gocagefree.org/gourmetmarket
ผู้บริโภคที่สนับสนุนนโยบายไข่ไก่ไร้กรงมากมายต่างก็ช่วยผลักดันให้บริษัทอาหารหลายแห่งใช้นโยบายเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์แล้ว เนสท์เล่ ยัม! แบรนด์ส และไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนลต่างก็ประกาศนโยบายไข่ไก่ไร้กรงที่มีผลใช้ในทุกสาขาทั่วโลก และมีศักยภาพที่จะช่วยแม่ไก่หลายพันชีวิตจากกรงขัง
ปัญหาของระบบกรงตับ
90% ของฟาร์มไข่ไก่ในไทยใช้ระบบกรงตับ ในระบบนี้ แม่ไก่อยู่อย่างแออัดในกรงแคบๆ ร่วมกับแม่ไก่อีกหลายตัว พวกเขาไม่สามารถเดินไปเดินมาหรือกางปีกออกจนสุดได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนแต่เป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติที่สำคัญต่อสวัสดิภาพของสัตว์
การใช้ระบบกรงตับยังสร้างความกังวลด้านสาธารณะสุข ซึ่งขัดกับสิทธิของผู้บริโภคในการเข้าถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่ปลอดภัย หน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) เผยว่า ฟาร์มที่ใช้ระบบกรงตับมีการปนเปื้อนของเชื้อซัลโมเนลลาที่สูงกว่าฟาร์มแบบปลอดกรง ซึ่งหมายความว่า ระบบกรงตับไม่เพียงแต่โหดร้ายทารุณต่อสัตว์เท่านั้น แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงของการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรียที่อาจส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้บริโภคและถือเป็นภัยต่อความปลอดภัยด้านอาหาร
งานวิจัยที่สำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคทั่วโลกที่มีต่อการผลิตไข่ไก่และสวัสดิภาพสัตว์เผยว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่กังวลเรื่องมาตรฐานและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่พวกเขาซื้อ งานวิจัยยังเผยอีกว่า สวัสดิภาพของแม่ไก่ในขั้นตอนการผลิตไข่ไก่สำคัญต่อผู้บริโภค และพวกเขาไม่ต้องการให้สัตว์ทุกข์ทรมานระหว่างขั้นตอนการผลิต