EDU & Tech-Innovation

เอ็นไอเอชี้ความสุขคนไทยปีนี้อันดับที่60  พร้อมเร่งบาลานซ์ความสุขด้วยนวัตกรรม



กรุงเทพฯ 22 มีนาคม 2565 – สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เผยปีนี้องค์การสหประชาชาติ หรือ UN จัดอันดับความสุขคนไทยอยู่ที่อันดับ 60 (ดีขึ้นกว่าปีที่แล้ว 1 อันดับ) พร้อมผลักดันให้ทั่วโลกตระหนักถึงความสุขอันเป็นเป้าหมายพื้นฐานของมนุษย์ภายใต้แนวคิด “Be Mindful, Be Grateful, Be Kind.” ซึ่งมุ่งเป้า “ความมีสติ สำนึกคุณค่า และการแบ่งปัน” เพื่อเพิ่มความสุขและคุณภาพชีวิตให้มากยิ่งขึ้น โดย NIA ได้มีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการกระจายนวัตกรรมเพื่อสังคมไปสู่ระดับภูมิภาคผ่านกลไกการสนับสนุนเงินทุนในหลากหลายรูปแบบ ได้แก่ โครงการนวัตกรรมสำหรับเมืองและชุมชน โครงการหมู่บ้านนวัตกรรมเพื่อสังคม โครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมรายสาขา โดยมีหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็ง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสุขและลดความเหลื่อมล้ำของสังคมไทย

image.png

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า องค์การสหประชาชาติ หรือ UN มีนโยบายให้ทุกประเทศตระหนักถึงความสุขและเพิ่มคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ และกำหนดให้วันที่ 20 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันความสุขสากล" หรือ The International Day of Happiness โดยแต่ละปีจะมีการจัดแคมเปญในการสร้างความตระหนักแตกต่างกันออกไป สำหรับปี 2023 นี้ UN ได้กำหนดธีมวันความสุขสากลคือ “Be Mindful, Be Grateful, Be Kind” การสื่อสารที่มุ่งหวังให้ทั่วโลกคำนึงถึง ความมีสติ สำนึกคุณค่า และการแบ่งปัน ซึ่งนับเป็น 3 ประเด็นพื้นฐานที่ประชากรทั่วโลกต้องการให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิต และช่วยเพิ่มความสุขในชีวิตประจำวันได้

ทั้งนี้ UN โดยเครือข่ายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (United Nations Sustainable Development Solutions Network: SDSN) ได้จัดทำแบบสำรวจผู้คนกว่า 150 ประเทศทั่วโลก เพื่อจัดอันดับประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ประจำปี 2023 (World Happiness Report 2023) ซึ่งจะพิจารณาจากการประเมินชีวิตเฉลี่ยในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2020 – 2022) ผ่าน 6 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ อายุขัยของประชากรที่มีสุขภาพดี จีดีพีต่อประชากร การสนับสนุนทางสังคม การทุจริตต่ำ ความเอื้ออาทรในชุมชน และเสรีภาพในการตัดสินใจที่สำคัญในชีวิต โดยปีนี้ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 60 ขยับดีขึ้น 1 อันดับจากปีที่ผ่านมา ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลก 5 อันดับแรก ได้แก่ ฟินแลนด์ เดนมาร์ก ไอซ์แลนด์ อิสราเอล และเนเธอร์แลนด์ จะพบว่าล้วนเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและการพัฒนาทางสังคม โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ

ดร.พันธุ์อาจ กล่าวเพิ่มเติมว่า NIA ให้ความสำคัญกับการผลักดันและส่งเสริมนวัตกรรมหลากหลายมิติโดยเฉพาะ “นวัตกรรมเพื่อสังคม” เพื่อเพิ่มความสุขและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมผ่านการทำงานร่วมกันของวิสาหกิจเพื่อสังคม ผู้ประกอบการ หรือแม้แต่สตาร์ทอัพ กับหน่วยงานพันธมิตรที่มีบทบาทในการพัฒนาสังคมและคุณภาพชีวิตประชากร ทั้งนี้ การกำหนดธีมวันความสุขสากลในปีนี้นับเป็นอีกมุมมองสำคัญที่ NIA สามารถเชื่อมนวัตกรรมไปสู่ท้องถิ่น เมือง และประเทศ โดย “Be Mindful” เน้นการส่งเสริมนวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตอย่างมีสติทั้งการติดตามข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง การเฝ้าระวังทั้งเชิงสุขภาพ อุบัติภัย เช่น การแจ้งเตือนไฟป่า - ฝุ่นควัน การแจ้งเตือนเกี่ยวกับสุขภาพและการแพทย์ การเฝ้าระวังโรคระบาด  “Be Grateful” การสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมที่ช่วยสร้างสำนึกคุณค่าและความพอใจต่อชีวิต สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สามารถพึ่งพาและอยู่ร่วมกันได้อย่างเข้าใจ เช่น นวัตกรรมการเฝ้าระวังช้างป่าโดยชุมชน แพลตฟอร์มการท่องเที่ยวโลว์คาร์บอนระบบสะสมไมล์โดยจักรยาน แพลตฟอร์มจัดการขยะในเมืองผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน และมหัศจรรย์ดอยหลวงเชียงดาวซึ่งเป็นพื้นที่สงวนชีวมณฑลขององค์การยูเนสโกแห่งใหม่ในประเทศไทย และ Be Kind” การสนับสนุนนวัตกรรมที่แบ่งปันโอกาสให้เกิดการสร้างงาน การกระจายรายได้ไปสู่พื้นที่ ชุมชน กลุ่มเปราะบาง เช่น แอปพลิเคชัน (สร้าง-จ้าง) งานวัยเก๋า หลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพผลิตสื่อโฆษณาสำหรับเยาวชนกลุ่มเปราะบาง หลักสูตรพัฒนาทักษะอาชีพสำหรับเยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ นวัตกรรมท่องเที่ยววิถีถิ่น 5 ชนเผ่า และแอปพลิเคชันสำหรับจัดการสวัสดิการสังคมเฉพาะบุคคล เป็นต้น ซึ่งปัจจุบัน NIA ให้การสนับสนุนนวัตกรรมเพื่อสังคมไปมากกว่า 600 โครงการ ครอบคลุมในหลากหลายมิติ เช่น การส่งเสริมการจ้างงาน การเข้าถึงโอกาส - สร้างความเท่าเทียม การขจัดความยากจน รวมถึงนวัตกรรมเพื่อการแบ่งปัน - สาธารณูปโภค โดยการส่งเสริมประเด็นเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดสำคัญที่จะทำให้อันดับความสุขคนในชาติเพิ่มขึ้น และยังสอดคล้องกับเป้าหมายความสุขระดับโลกตาม 6 ตัวแปรความสุขของ UN อีกด้วย

“ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา NIA ได้มีโอกาสร่วมกับหน่วยงานที่มีเป้าหมายสร้างความสุขให้คนในชาติอย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ขับเคลื่อนระบบนวัตกรรมเพื่อสร้างเสริมสุขภาวะของประชาชนคนไทยทั้งในเชิงพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย ผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการขยายผลงานนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะไปในวงกว้าง พร้อมทั้งสร้างเครือข่ายนวัตกรรมสร้างเสริมสุขภาวะในระดับภาคีเครือข่าย องค์กรภาครัฐ เอกชน สังคม ชุมชน และประชาชนทั่วไป และที่สำคัญยังมีหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม หรือ SID ที่เป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงการพัฒนานวัตกรรมด้วยการใช้ประโยชน์จากองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและพัฒนา มาช่วยลดความเหลื่อมล้ำ - หาความต้องการและปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ พร้อมยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกันมากขึ้น ซึ่งมีเครือข่ายอยู่ทั่วประเทศและมีจำนวน SID จำนวน 11 หน่วย”