In Bangkok

กทม.จัดระบบบริการสุขภาพทางเพศ เคลื่อนที่มุ่งลดผู้ติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์



กรุงเทพฯ-นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวถึงมาตรการเชิงรุกในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ว่า สนพ. ได้ดำเนินมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชนและวัยรุ่นในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง โดยใช้แนวทาง ดังนี้ (1) RRTTPR (Reach-Recruit-Test-Treat-Prevention-Retain) Reach & Recruit : การจัดบริการเชิงรับและเชิงรุกให้ข้อมูลความรู้และชักชวนตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รวมถึงเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ในสถานศึกษา สถานบันเทิง และจุดรวมตัวของกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งร่วมกับเครือข่ายภาครัฐและองค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) (2) Test & Treat : การตรวจคัดกรอง HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เบิกจ่ายตามสิทธิและไม่เสียค่าใช้จ่ายในกลุ่มวัยรุ่น กลุ่มเสี่ยงสูง และกลุ่มผู้ไร้สิทธิ โดยหากพบผู้ติดเชื้อให้บริการดูแลรักษา หรือส่งต่อตามสิทธิการรักษา (3) Prevention : ส่งเสริมการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย สารหล่อลื่น และยาป้องกันก่อน-หลังการติดเชื้อ HIV (PrEP/PEP) และ (4) Retain : การติดตามผู้ติดเชื้อให้เข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และผู้ที่มีความเสี่ยงสูงติดตามป้องกันให้ผลเป็นลบอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกันยังได้สนับสนุนความร่วมมือการจัดระบบบริการสุขภาพทางเพศเคลื่อนที่ของ กทม. เพื่อเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ของกรุงเทพฯ ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่และลดการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวกับสุขภาพทางเพศ โดยผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน หรือมีการสัมผัสสารคัดหลั่งต่าง ๆ ที่คาดว่าอาจจะทำให้เกิดการติดเชื้อสามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ที่ BKK Pride Clinic ซึ่งปกติเชื้อมีระยะฟักตัวตั้งแต่ 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน ดังนั้น การตรวจเร็วเกินไปอาจได้รับผลลบที่ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เข้ารับบริการในสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลจะได้รับคำแนะนำก่อนตรวจและหลังทราบผล เพื่อดูแลป้องกันและรักษาต่อไป ทั้งนี้ ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อใช้เวลาทราบผลภายใน 1 วัน ตามสิทธิ์การรักษาของประชากรไทยสามารถเข้ารับการตรวจเชื้อได้ปีละ 2 ครั้ง โดยการตรวจเลือดในสถานพยาบาลต่าง ๆ ทั้งศูนย์บริการสาธารณสุขและโรงพยาบาลในประเทศไทย หรือสามารถเข้ารับชุดตรวจ HIV SELF TEST ผู้ตรวจเก็บตัวอย่างเลือด หรือน้ำในช่องปาก นำมาตรวจและแปลผลเบื้องต้นด้วยตนเองได้เช่นกัน หากตรวจพบเชื้อเร็วสามารถเริ่มการรักษาได้เร็วและลดโอกาสการเพิ่มปริมาณเชื้อในร่างกายได้ รวมถึงลดภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อและลดโอกาสการแพร่เชื้อสู่ผู้อื่น หากมีความเสี่ยงในช่วง 72 ชั่วโมงแรก แนะนำให้เข้าปรึกษาแพทย์เพื่อแนะนำการใช้ PrEP หรือยาต้าน และเป็นยาป้องกันหลังสัมผัสเชื้อ ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงขึ้นหากได้รับยาเร็ว

นอกจากนี้ สนพ. ได้ส่งเสริมกิจกรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์ โดยเผยแพร่ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องในการป้องกันกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และเอดส์ การใช้ถุงยางอนามัย และยาป้องกันก่อนและหลังการสัมผัสเชื้อเอชไอวี (PrEP/PEP) สนับสนุนการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์การให้บริการคลินิกสุขภาพเพศหลากหลาย กทม. (BKK Pride Clinic) เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการอย่างเท่าเทียม ลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ จัดให้มีระบบบริการสุขภาพกลุ่มวัยรุ่น โดยเฉพาะการเข้าถึงอุปกรณ์ป้องกัน เช่น ถุงยางอนามัย สร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยให้กลุ่มวัยรุ่น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HIV โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ และการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร โดยจัดหาและกระจายถุงยางอนามัย สารหล่อลื่นให้กลุ่มเป้าหมาย ทั้งเยาวชนในระบบการศึกษาและนอกระบบการศึกษา สถานบันเทิง และสถานประกอบการ รวมถึงวางแผนและจัดบริการและติดตามประเมินผลร่วมกับภาคีเครือข่ายอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ สามารถติดต่อขอรับคำปรึกษาความรู้เกี่ยวกับเพศศึกษาและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ ได้ที่ BKK Pride Clinic 32 แห่งทั่วกรุงเทพฯ ได้แก่ โรงพยาบาลสังกัด กทม. 12 แห่ง และศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. 20 แห่ง หรือติดต่อขอรับคำปรึกษาผ่านระบบ Telemedicine แอปพลิเคชัน “หมอ กทม.” หรือโทร HOTLINE 1646 สายด่วนสุขภาพ สนพ. ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง