Biz news
'ลลิล พร็อพเพอร์ตี้'เปิดผลประกอบปี'63 โกยรายได้กว่า5.7พันล้าน-ขยายตัว24%
กรุงเทพฯ-ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ ประกาศผลประกอบการปี 2563 รับรู้รายได้ 5,748.82 ล้านบาท ขยายตัว 24% กำไรสุทธิ 1,333.17 ล้านบาท ขยายตัว 50%พร้อมประกาศจ่ายปันผลรวม 0.61 บาท/หุ้น สำหรับผลประกอบการปี 2563
บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด(มหาชน) ประกาศผลประกอบการปี 2563 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง สวนกระแสตลาด โดยเป็นการเติบโตเหนือกว่าอุตสาหกรรมต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ห้า ทั้งนี้สำหรับไตรมาส 4/2563 บริษัทมียอดรับรู้รายได้ที่ 1,750.9 ล้านบาท ขยายตัว 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ยอดรับรู้รายได้ทั้งปี 2563 อยู่ที่ 5,764.6 ล้านบาท ขยายตัว 24.2% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่บริษัทยังคงสามารถบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ได้ดีเหนือค่าเฉลี่ยของตลาดมาอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีกำไรพิเศษเข้ามาในปี 2563 จำนวน 155.7 ล้านบาทจากโครงการที่อยู่ในแนวเวนคืน ส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2563 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1,333.2 ล้านบาท หรือคิดเป็นการขยายตัวจากปีก่อนหน้า 49.5%
นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) ผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ภายใต้แนวคิด “บ้านที่ปลูกบนความตั้งใจที่ดี” กล่าวว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา นับเป็นปีที่ทั่วโลกต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID-19 ซึ่งส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศไทย โดย GDP ทั้งปีของไทย หดตัวไป 6.1% ภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ได้รับผลกระทบเช่นเดียวกัน แต่ด้วยบริษัทเน้นกลยุทธ์การทำตลาดที่เน้นลูกค้า Real Demand มาอย่างชัดเจน จึงได้รับผลกระทบที่น้อยกว่า โดยบริษัทได้พยายามคัดสรรทำเลที่มีศักยภาพ ตลอดจนพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อตอบสนอง Customer Insights อย่างแท้จริง จึงทำให้บริษัทยังคงสามารถบริหารงานผ่านปีที่ยากลำบากไปได้ โดยยังมีผลประกอบการที่เติบโต
โดยสำหรับผลประกอบการปี 2563 บริษัทมียอดรับรู้รายได้ที่ 5,764.6 ล้านบาท หรือเติบโตเพิ่มขึ้น 24.2% ซึ่งเป็นการทำได้ดีกว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้ ซึ่งไม่เพียงแต่ Top Line ที่ขยายตัวได้ดี ในส่วนของ Bottom Line หรือกำไรสุทธิก็ขยายตัวสูงถึง 49.5% ทั้งนี้อันเนื่องมาจากการที่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนการก่อสร้าง ต้นทุนด้านการขาย ต้นทุนด้านการบริหาร ตลอดจนต้นทุนทางด้านการเงิน โดยในปี 2563 นี้บริษัทมีอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) อยู่ที่ 39.2% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม ในขณะที่อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อยอดขาย (SG&A/Sales) อยู่ที่ 9.2% ซึ่งปรับลดลงจากในปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ 11.0% นอกจากนี้ ในปี 2563 นี้ บริษัทมีการรับรู้กำไรพิเศษที่เกิดจากการเวนคืนโครงการหนึ่งของบริษัท จำนวน 155.7 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 2563 นี้ บริษัทมีกำไรสุทธิทั้งสิ้น 1,333.2 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 49.5% ซึ่งถ้าหากหักรายการกำไรพิเศษออก กำไรสุทธิจากการดำเนินงานตามปกติ จะขยายตัวที่ราว 35.6%
ทั้งนี้บริษัทดำรงสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง โดยในส่วนโครงสร้างเงินทุน บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ที่ลดลงจาก 0.75 เท่า ณ สิ้นปี 2562 มาอยู่ที่ระดับเพียง 0.67 เท่า ณ สิ้นปี 2563 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยโดยรวมของอุตสาหกรรมซึ่งอยู่ราว 1.4 – 1.5 เท่า อย่างมาก ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ตลอดจนการบริหารความเสี่ยงด้านการเงินอย่างรัดกุมของบริษัท และสะท้อนถึงความสามารถในการขยายธุรกิจได้อีกมาก โดยไม่มีปัญหาทางด้านสภาพคล่อง และแหล่งของเงินทุนที่จะใช้ในการขยายกิจการ ทั้งนี้โดยปกติบริษัทจะมีการใช้แหล่งเงินกู้ที่หลากหลายทั้งระยะสั้น และระยะยาว ตลอดจนมีการกระจายพันธมิตรสถาบันการเงิน ไม่พึ่งพิงสถาบันใดสถาบันหนึ่งแต่เพียงแหล่งเดียว โดยมีวงเงินสำรองที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกจำนวนมาก ซึ่งสามารถรองรับการขยายธุรกิจ หรือสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เป็นอย่างดี
ทั้งนี้ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติเห็นชอบจัดสรรกำไรสำหรับปี 2563 ให้กับผู้ถือหุ้น โดยเสนอให้จ่ายเงินปันผลรวมทั้งปีในอัตราหุ้นละ 0.61 บาท ซึ่งหากคิดที่ราคาหุ้นปัจจุบัน คิดเป็น Dividend Yield อยู่ที่ระดับกว่า 7.0% โดยบริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้วที่ 0.25 บาท ดังนั้นจะเหลือจ่ายเพิ่มเติมอีก 0.36 บาทต่อหุ้น โดยเป็นการจ่ายจากผลการดำเนินงานปกติ 0.30 บาทต่อหุ้น และกำไรพิเศษจากการเวนคืน 0.06 บาทต่อหุ้น โดยได้กำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผลในวันที่ 17 มีนาคม 2564 (หรือขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 16 มีนาคม 2564) และกำหนดจ่ายปันผลในวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 โดยจะนำเสนอการจ่ายปันผลดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ต่อไป