In News
เผยคนไทยตายจาก'วัณโรค'ปีละ1หมื่นคน ชง3แนวทางยุติโรคจากแรงงานข้ามชาติ
นนทบุรี-กระทรวงสาธารณสุข ห่วงไทยยังมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคมากกว่าปีละ 1 หมื่นราย ติดบัญชีประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด วิจัยพบอุปสรรคการยุติวัณโรคมาจาก ปัญหาวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ เสนอ 3 แนวทางลดปัญหา เน้นคัดกรองดูแลแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม
กระทรวงสาธารณสุข ห่วงไทยยังมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคมากกว่าปีละ 1 หมื่นราย ติดบัญชีประเทศที่มีผู้ป่วยรายใหม่สูงสุด วิจัยพบอุปสรรคการยุติวัณโรคมาจาก ปัญหาวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ เสนอ 3 แนวทางลดปัญหา เน้นคัดกรองดูแลแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน
นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) ในฐานะประธานคณะกรรมการ MIU (MOPH Intelligence Unit) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย มีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคมากกว่าปีละ 10,000 ราย กระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค ตั้งแต่ปี 2560 มีเป้าหมายยุติวัณโรคให้ได้ภายในปี 2578 ซึ่งขณะนี้บรรลุผลในระดับหนึ่ง โดยปี 2564 ไทยสามารถออกจากรายชื่อประเทศที่มีปัญหาวัณโรคดื้อยามากที่สุดในโลกได้สำเร็จ แต่ยังอยู่ในบัญชีรายชื่อประเทศที่มีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่สูงสุด และมีวัณโรคร่วมกับโรคเอดส์สูงสุด โดยอุปสรรคต่อการยุติวัณโรคในไทย คือ ปัญหาวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ ที่ประมาณการว่ามีมากถึง 4.5 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีอัตราป่วยวัณโรคสูงกว่าไทย มีการย้ายถิ่นเพิ่มขึ้นจากการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ซึ่งการโยกย้ายถิ่นที่อยู่ที่ทำงาน และกำแพงด้านภาษาและวัฒนธรรม ทำให้ไม่สามารถคัดกรองวัณโรคได้อย่างครอบคลุม อัตราการรักษาสำเร็จต่ำ อัตราการขาดยาสูงกว่าคนไทยหลายเท่า และส่งผลกระทบต่อการดูแลป้องกันวัณโรคในคนไทย
นพ.รุ่งเรืองกล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยทีมวิจัยด้านสังคมและสุขภาพ สำนักวิชาการสาธารณสุข จึงทำโครงการ “วัณโรคไร้รัฐกับแรงงานไร้พรมแดน : มิติสังคมวัฒนธรรมของวัณโรคในบริบทการพัฒนาประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน กับความมั่นคงทางสุขภาพของประเทศไทย” วิจัยปัญหาและพัฒนาข้อเสนอการควบคุมวัณโรคในประชากรแรงงานข้ามชาติ ดำเนินการในพื้นที่ อ.แม่สอด จ.ตาก และ จ.สมุทรสาคร พบว่า 1.อุปสรรคในการคัดกรองวัณโรค การรักษาที่ต่อเนื่อง และการป้องกันการแพร่เชื้อ คือ ปัจจัยส่วนบุคคลทั้งด้านภาษาและวัฒนธรรม การขาดความรู้เกี่ยวกับโรค การเคลื่อนย้าย ขาดการดูแลคุณภาพชีวิตและสวัสดิการที่เหมาะสมในการทำงาน ขาดความต่อเนื่องของสิทธิรักษาจากปัญหาสถานะบุคคล
2.ผู้ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ นายจ้างและนายหน้าจัดหาแรงงาน ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัณโรค จึงขาดการป้องกันตนเองอย่างเหมาะสม ละเลยการปฏิบัติตามกระบวนการคัดกรองและรักษาวัณโรคตามแนวทางที่กำหนด และขาดความใส่ใจดูแลแรงงานที่มีความเสี่ยงหรือป่วยเป็นวัณโรค และ 3.การได้รับยารักษาวัณโรคจากระบบบริการสาธารณสุขของไทยโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย มีการติดตามต่อเนื่องโดยภาคประชาสังคม มีส่วนทำให้แรงงานข้ามชาติที่ป่วยวัณโรค ให้ความร่วมมือรับการรักษาอย่างต่อเนื่องจนหายขาด
นพ.รุ่งเรืองกล่าวว่า จากผลการวิจัยจึงมีข้อเสนอแนะ คือ 1.ควรบูรณาการหน่วยงานภาครัฐ เอกชนและประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ พัฒนาระบบการดูแลและป้องกันวัณโรคที่ครอบคลุมประชากรแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม ให้ได้รับการคัดกรองและดูแลรักษาที่ต่อเนื่อง 2.ควรร่วมมือกับองค์กรภาคประชาสังคม องค์กรระหว่างประเทศ และกองทุนโลก เพิ่มความครอบคลุมการคัดกรองโรคและให้ยารักษาวัณโรคที่เหมาะสมกับแรงงานข้ามชาติอย่างทั่วถึง โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายตามหลักสิทธิมนุษยชน และ 3.ควรร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ พัฒนาแนวทางการสร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้านการควบคุมวัณโรคในแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นประเด็นด้านความมั่นคงทางสุขภาพและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ