EDU Research & ESG

บริการวิชาการมข.ส่งผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ใหัชุมชนตัดเย็บบ้านดงภายใต้ BCG



ขอนแก่น-ศูนย์บริการวิชาการสังคม สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมกับ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนตัดเย็บบ้านดง อ. อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น จัดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์และการส่งมอบสินค้าต้นแบบ ภายใต้โครงการ: “อุ๊กผ้า” Eco-Print หยิบทุนทางธรรมชาติมาสร้างเงินล้าน โดยมีแนวคิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (BCG) รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ ส่งมอบผลิตภัณฑ์ต้นแบบเสื้อและผ้าพันคอพิมพ์ลายใบไม้  ให้กับ นายกานต์  ทองแสง นายอำเภออุบลรัตน์ อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นเพื่อส่งต่อให้ทางกลุ่มวิสาหกิจตัดเย็บบ้านดง ต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนเดิมสู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์

รศ.น.สพ.ดร.ชูชาติ  กมลเลิศ ผู้อำนวยการสำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวถึงการดำเนินการซึ่งที่ผ่านมามีกิจกรรมการวิเคราะห์ศักยภาพและความต้องการ กิจกรรมฟื้นฟูผลิตภัณฑ์เก่าและต่อยอดผลิตภัณฑ์ใหม่ และครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมพัฒนาผลิตภัณฑ์สู่การแข่งขันเชิงพาณิชย์ ซึ่งเกิดขึ้นจากความต้องการของกลุ่มวิสาหกิจที่ต้องการให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย ตามความต้องการของตลาด ให้ความสำคัญกับผลภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (ฺBCG) โดยการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นหนึ่งในภารกิจของสำนักบริการวิชาการ ตามประเด็นยุทธศาสตร์ในการถ่ายทอดเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาสังคมและยกระดับคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในด้านการขจัดความยากจน (SDGs 1) ภายใต้งบประมาณสนับสนุนจากสำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสำนักบริการวิชาการเองเล็งเห็นถึงความเข้มแข็งของชุมชน  จึงได้นำเอาโดยนำเอานวัตกรรม Eco-Print ผ้าพิมพ์ลายด้วยใบไม้จากธรรมชาติ มาถ่ายทอดเพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและเป็นการเพิ่มคุณค่าของผ้าพร้อมกับสามารถนำไปต่อยอดสร้างรายได้ที่ยั่งยืนต่อไป

นางกันยา  สังฆะสี ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนตัดเย็บบ้านดง กล่าวว่า  กลุ่มของเรานั้นประกอบไปด้วยชาวบ้านจำนวน 40 กว่าคน มีทั้งกลุ่มทอผ้า กลุ่มเย็บผ้า และกลุ่มที่ทำผลิตภัณฑ์ขาย ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าที่หลากหลายรูปแบบไม่กว่าจะเป็นพวงกุญแจของที่ระลึกรูปไดโนเสาร์ กระเป๋า หมวก ผ้าขาวม้า ผ้าพันคอ เสื้อหรือชุดผ้าไหม / ผ้าฝ้าย ซึ่งในปัจจุบัน ทางกลุ่มได้สนใจที่จะนำเอานวัตกรรม Eco-print ผ้าย้อมสีใบไม้ มาเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของกลุ่มที่มีอยู่ แต่ยังขาดความรู้ เทคนิค กรรมวิธีที่ถูกต้อง ซึ่งการที่มหาวิทยาลัยขอนแก่นเข้ามาส่งเสริมความรู้ในครั้งนี้ ทำให้ทางกลุ่มเองได้มีความรู้และได้นำเอาผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ได้ไปทดลองขายและได้รับผลตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

ข่าวและภาพ : ชาลี พรหมอินทร์