Biz news

80%คนจะนะต้องการนิคมอุตสาหกรรม 



กรุงเทพฯ- NGOs ยุยงปลุกปั่นประชาชนให้กลัวนิคมอุตสาหกรรมทั้งที่ไม่มีจริง เช่น ที่ระยองที่มีอุตสาหกรรมหนักก็ยังมีแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นต่อเนื่อง  ผลสำรวจของ ศอ.บต.ระบุว่าคนส่วนใหญ่ต้องการนิคมอุตสาหกรรม ถ้ายังไม่มั่นใจก็ควรทำประชามติ เพื่อให้พวก NGOs เลิกอ้างประชาชนเสียที

ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) ได้นำเอกสารข่าวของสำนักข่าวอิสรามาเผยแพร่ โดยเขียนใหม่เพราะข้อความข่าวไม่เป็นกลาง เข้าข้างฝ่าย NGOs เกินจริง <1> โดยในข่าวกล่าวว่าศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เผยสำรวจความคิดเห็นเบื้องต้นของพี่น้องประชาชนใน อ.จะนะ จ.สงขลา ส่วนใหญ่ราวๆ 80% มีแนวโน้มสนับสนุนการปักเสาตั้งโรงงานเพื่อทำโครงการ “เมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต”

ทั้งนี้ ศอ.บต. ลงพื้นที่เปิดเวทีย่อยพูดคุยและส่งบัณฑิตอาสาไปเคาะประตูบ้านให้ข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ 3 ตำบลของ อ.จะนะ คือ ต.นาทับ ต.ตลิ่งชัน และ ต.สะกอม ซึ่งเป็นพื้นทื่ก่อสร้างโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ โดยผลปรากฏว่าประชาชนมีแนวโน้มเห็นด้วยถึงร้อยละ 76.4 แนวโน้มไม่เห็นด้วยร้อยละ 13.1 และไม่สามารถระบุได้ ร้อยละ 10.5

นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. ให้สัมภาษณ์ขยายความกับ "ทีมข่าวอิศรา" ว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีความเข้าใจมากขึ้น เพราะได้รับข้อมูลที่เป็นจริง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 พ.ค.2562 และวันที่ 21 ม.ค.2563 รวมทั้งแนวทางการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ นับตั้งแต่วันที่มีมติเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันและที่จะดำเนินการต่อไปในอนาคต. . .การจัดเก็บข้อมูลตั้งแต่วันอังคารที่ 23 มิ.ย.จนถึงวันที่ 28 มิ.ย. มีประชาชนร้อยละ 87 เห็นด้วยกับแนวทางของโครงการเมืองต้นแบบ และมีข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะในหลายประเด็น

ส่วนในกรณีผลกระทบกับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ และวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ นายชนธัญ หรือ "ดร.เจ๋ง" กล่าวว่า ในอนาคตจะมีคนมาเที่ยวเพิ่มขึ้นแน่นอน เพราะทะเลที่สัตหีบ (จ.ชลบุรี) เองก็อยู่ไม่ห่างจากมาบตาพุด (เมืองอุตสาหกรรม จ.ระยอง) การทำพื้นที่เป็นสวนอุตสาหกรรมไม่ได้หมายถึงทะเลจะหายไปทั้งหมด หรือแม้แต่การมีท่าเรือก็ไม่ได้ทำให้พื้นที่ท่องเที่ยวหายไป ถ้าจิตสำนึกของประชาชนยังคงรักและดูแลเอาใจใส่" รองเลขาธิการ ศอ.บต.ระบุ และว่า ในส่วนของปัญหาคนยากจนในพื้นที่ จะมีโครงการ “1 ตำบล 1 พื้นที่สาธารณะ” ขณะนี้อยู่ระหว่างให้กรมที่ดินเร่งรัด หากสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จ ก็จะนำประชาชนไปอยู่พื้นที่ตรงนั้น ก็จะมีพื้นที่ทำมาหากินด้วย

ต่อมา ศอ.บต. ได้แจงถึงโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะว่า <2> โครงการนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2559 โดย อ.จะนะ ถูกผูกในแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" มาตั้งแต่เดือน ก.ค.59 ก่อนเป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ต.ค.59 แต่การดำเนินงานจริงถูกกำหนดเงื่อนไขไว้ว่า จะดำเนินการภายหลังเมืองต้นแบบทั้ง 3 เมืองในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เดินหน้าไปในระดับหนึ่งแล้ว ประกอบด้วย อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส อ.เบตง จ.ยะลา และ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี. . .ที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 7 พ.ค.62 ให้ความเห็นชอบเพียงหลักการเท่านั้น พร้อมกับสั่งให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง นั่นหมายถึงการเสนอเชิงนโยบายที่จะให้ทุกภาคส่วนไปร่วมกันวางแผนการทำงานร่วมกัน

ครม.สั่งการให้ไปสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชน และสร้างความร่วมมือให้ได้มากที่สุด โดยการทำงานนั้นให้ใช้อำนาจตามมาตรา 10 ประกอบมาตรา 18 แห่งพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ.2553 (การประกาศเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ และการโอนอำนาจให้เลขาธิการ ศอ.บต.ขับเคลื่อนงานแทน) เป็นกรอบการทำงานตามกฎหมาย  สำหรับการทำงานในระยะต่อไป จะเริ่มกระบวนการศึกษาในพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนด เช่น การศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) เป็นต้น ซึ่งเป็นรายงานการศึกษาที่สำคัญมากที่สุดว่าจะทำอะไร พื้นที่ไหนได้มากเท่าไหร่ ผลกระทบทั้งบวกและลบเป็นอย่างไร ก่อนเสนอให้ประชาชนร่วมคิดร่วมออกแบบ

ที่สำคัญยังจะมีรายงานการศึกษาที่ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมด้านทรัพยากรมนุษย์ ทั้งด้านการศึกษา แรงงาน การศึกษายกระดับงานสาธารณสุขในพื้นที่ การเตรียมความพร้อมของประชาชน และการเชื่อมโยงโอกาสการพัฒนาเชิงพื้นที่ รวมถึงการจัดตั้งกองทุนการบริหารจัดการพื้นที่ผ่าน "ธรรมนูญชุมชน" ซึ่งเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกรอบการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ อันเป็นเรื่องที่กำหนดไว้ในกฎหมายและมติคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจนเคร่งครัด

มติคณะรัฐมนตรีที่ผ่านมายังไม่มีการอนุมัติงบประมาณอะไรเพื่อสนับสนุนการทำงานของเอกชน นอกจากกระบวนการทำงานสื่อสารสร้างความเข้าใจ และการจัดทำกรอบการบริหารและการพัฒนาพื้นที่ตามนัยแห่งมาตรา 10 พระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ฯ เท่านั้น  เมื่อต้องดำเนินการตามมาตรา 10 ของพระราชบัญญัติการบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ หน่วยงานที่มีบทบาทการทำงานเพียงหน่วยเดียวในประเทศไทย ก็คือ ศอ.บต. ซึ่งถือเป็นการทำงานที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมาย

อย่าไปเชื่อพวก NGOs ที่มีวาระซ่อนเร้นชั่วร้าย ต้องพัฒนานิคมอุตสาหกรรมจะนะ  เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชน