In News

ชาวประมงแหลมปะการังร้องขอที่จอดเรือ



พังงา-ชาวประมงพื้นกว่า200 ลำ!!บ้านบางขยะร้องเดือดร้อนหนัก ไม่มีที่จอดเรือถาวร ส่งผลให้เรือเสื่อมสภาพเร็วกว่าเดิม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แหลมปะการัง บ้านบางขยะ หมู่ 2 ต.คึกคัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ชาวประมงบ้านพื้นบ้านบ้านบางขยะ กว่า 200 ลำ กำลังประสบปัญหาไม่มีพื้นทีเทียบเรือเพื่อรอการออกหาสัตว์น้ำ หรือ พื้นที่หลบลมมรสุมในช่วงมรสุม จนเป็นเหตุให้เรือเสื่อมสภาพเร็วขึ้น เรือบางลำคานเรือได้รับความเสียหาย บางลำท้องเรือกระแทกโขดหินและปะการังจนได้รับความเสียหาย สาเหตุหลักจากพื้นที่เทียบเรือในปัจจุบันเป็นชายหาด ขึ้นอยู่กับสภาพน้ำขึ้น-น้ำลง ไม่มีพื้นที่สำหรับไว้จอดเทียบเรือให้เหมาะสม 

ขณะชาวประมงพื้นบ้านยื่นหนังสือ ต่อเทศบาลตำบลคึกคัก เจ้าท่าภูมิภาคสาขาพังงา และจังหวัดพังงา แล้ว ต่อมาทาง สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 กรมเจ้าท่า ได้เข้าสำรวจตรวจสอบพื้นที่ร่วมกับชาวประมง เมื่อวันที่ 10 มี.ค.63 โดยชาวประมงมีความต้องการให้ทำการขุดลอกร่องน้ำ ระยะทาง ประมาณ 500 เมตร กว้าง 20 เมตร ลึก 2 เมตร (จากระดับน้ำลงต่ำสุด) และขุดลอกแอ่งจอดเรือ ระยะทางประมาณ 200 เมตร กว้าง 60 เมตร ลึก 2 เมตร แต่เนื่องจากงบประมาณ 63-64 ทางภาครัฐประสบปัญหาจากสถานการณ์โควิด-19 งบประมาณในการดำเนินการจึงถูกชะลอโดยรอการพิจารณางบประมาณอีกครั้งในปีงบประมาณ 65 ด้านชาวประมงพื้นบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนกว่า 200 ครัวเรือน ร้องเรียนผ่านสื่อมวลชนขอความเห็นใจต้องการให้หน่วยงานภาครัฐบรรเทาความเดือดร้อนและสอบถามความคืบหน้าโครงการดังกล่าว 

โดย นายสติ สาแรก อายุ 52 ปี ชาวประมงพื้นบ้าน บ้านบางขยะ เปิดเผยว่า ปกติที่แหลมประการังหรือคนท้องถิ่นในพื้นที่จะเรียก บ้านบางขยะ ซึ่งจะมีชายหาดที่สวยงามยาวกว่า 2 กิโลเมตร ที่สามารถนำเรือประมงขนาดเล็กเข้ามาจอดเพื่อหลบลม จอดเรือช่วงมรสุมได้หรือบางรายก็จะนำเรือขึ้นมาบนชายหาดเพื่อทำการซ่อมแซมเรือ ซึ่งมีเรือกว่า 200 ลำที่จะมาจอดที่แหลมปะการังแห่งนี้ แต่ตอนนี้ประสบกับปัญหาเรื่องช่วงน้ำขึ้นน้ำลงไม่สามารถนำเรือเข้ามาจอดได้ ช่วงที่น้ำลงเรือประมงทุกลำต้องจอดห่างจากฝั่งประมาณ 1 กิโลเมตร หากหาปลามาได้ตอนจะกลับเข้าฝั่งถ้าเป็นช่วงน้ำทะเลลงก็ต้องจอดเรือลอยลำจนกว่าน้ำทะเลจะขึ้นจึงจะสามารถนำเรือเข้าฝั่งได้ ซึ่งก็ใช้เวลานานหลายชั่วโมง ปลา ปลาหมึก ที่หามาได้ก็เกิดการเน่าเสีย แต่ถ้านำเรือเข้ามาช่วงน้ำทะเลขึ้นก็สามารถเข้ามาจอดได้แต่ต้องคอยเฝ้าระวังหากน้ำทะเลลงแล้วย้ายเรือออกไม่ทันก็ต้องรออีกทีตอนน้ำทะเลขึ้น ตอนนี้เรือทุกลำต้องแก้ปัญหาคือนำเรือไปจอดตามชายหาดต่างๆ ที่อยู่ใกล้กับแหลมปะการัง ซึ่งก็เป็นชายหาดของเอกชน ซึ่งจอดได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น หากทางเจ้าของที่ดินมีการขายที่ดินขึ้นมา เรือประมงทุกลำก็ต้องหาที่จอดใหม่ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะไปจอดที่ไหน เนื่องจากช่วงมรสุมคลื่นลมที่นี่จะแรงมาก  ตนเองทำอาชีพประมงจอดเรืออยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยพ่อแม่ ทำอาชีพประมงซึ่งตนยังตัวเล็กๆ จนตอนนี้อายุ 52 ปีแล้ว พวกเราเรือประมงพื้นบ้านอยากให้ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าท่า หรือทางจังหวัดเข้ามาช่วยเหลือ ทำการขุดร่องน้ำให้เรือทุกลำเข้าออกได้ตามสะดวกไม่ต้องคอยน้ำทะเลขึ้น น้ำทะเลลง การขุดร่องน้ำถ้าทำได้อยากได้ร่องน้ำที่มีความกว้างประมาณ 20 เมตร ลึก 4 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร ก็จะดีมาก และเรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็กทุกลำก็จะสามารถเข้ามาจอดที่แหลมประการังได้ทุกลำ และปลอดภัย โดยเฉพาะช่วงมรสุม พวกเราทุกคนลำบากจริงๆตอนนี้ และสถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาประจำทุกวัน โดยเฉพาะวันหยุดจะมีมาก จะมากันเป็นครอบครัว นำอาหารมาทาน มาเล่นน้ำทะเล แต่กลับไม่มีการพัฒนาสถานที่แต่อย่างใด ชาวประมงซึ่งมีอยู่กว่า 200 ลำ ที่ได้รับความเดือดร้อนไม่มีที่จอดเรือ เคยยื่นหนังสือของความช่วยเหลือไปทางเทศบาล กำนันในพื้นที่ ผู้ใหญ่บ้าน กรมเจ้าท่า เมื่อสองปีก่อน จนทุกวันนี้เรื่องก็เงียบหาย ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาดูแลให้การช่วยเหลือ หรือพูดคุยกับชาวบ้านแต่อย่างใด

ทางเจ้าหน้าที่สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาพังงา แจ้งผ่านสื่อมวลชนว่า ทางภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ กรณีดังกล่าวทางจังหวัดพังงาได้มอบหมายให้ทาง สำนักงานพัฒนาและบำรุงรักษาทางน้ำที่ 3 ดำเนินการเพื่อแก้ปัญหาให้ชาวประมงพื้นบ้านดังกล่าวแล้ว แต่เนื่องด้วยงบประมาณในสถานการณ์โควิด-19 ภาครัฐต้องจำกัดงบประมาณเพื่อช่วยเหลือความเดือดร้อนเร่งด่วนตามความเหมาะสมของสถานการณ์ และพร้อมเสนอพิจารณาในงบประมาณ 65 ซึ่งหากประชาชนต้องการให้รวดเร็วขึ้นสามารถประสานงานกับท้องถิ่น หรือ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือ งบกลางเพื่อแก้ปัญหาวิกฤติท้องถิ่น เพื่อของบประมาณในการดำเนินการต่อไป