EDU Research & ESG

'ม.ศรีปทุม' ฮับรวมอาจารย์วิศวะมืออาชีพ ร่วมงานรัฐ-เอกชนผลิตระบบปรับอากาศ



กรุงเทพฯ-ปัจจุบันอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญที่ผ่านประสบการณ์ทำงานจริงในสาขาวิศวกรรมเป็นที่ต้องการสูงมากในมหาวิทยาลัย เพราะเป็นยุคที่การเรียนการสอนเน้นการเชื่อมโยงแนวคิดกับสถานการณ์จริง มากกว่าการเรียนรู้ด้านทฤษฎีอย่างเดียว ทั้งนี้ อาชีพสอนเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มน้อยที่สุดที่จะได้รับผลกระทบจากการถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ หรือ AI เพราะเป็นอาชีพที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียน อาศัยทักษะหลายอย่าง และต้องคอยกระตุ้นผู้เรียน สังเกตการณ์ รวมไปถึงการออกแบบการสอนให้เหมาะสม โดยจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดระบุว่า การจ้างงานด้านการศึกษาจะเพิ่มขึ้น 12% ภายในปี 2567

สำหรับมหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) ให้ความสำคัญกับการคัดเลือกอาจารย์ที่มีคุณภาพสูง เพื่อสร้างวิศวกรรุ่นใหม่มีทักษะตอบโจทย์กับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม ภายใต้การส่งเสริมทักษะวิศวกรวิชาชีพ (Practical Engineer) ครอบคลุมงานวิศวกรรมในหลาย ๆ ด้าน ที่สามารถก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศ โดยสาขาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยศรีปทุม มี “ดร.เทพฤทธิ์ ทองชุบ” เป็นอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ โดยมีประสบการณ์ทำงานด้านระบบสุขาภิบาลในอาคาร ระบบปรับอากาศเพื่อคุณภาพชีวิตคน ทั้งยังเป็นผู้ออกแบบเครื่องทำอากาศห้องปลอดเชื้อในสถานพยาบาล และเครื่องกรองโรงงานอุตสาหกรรม

“ดร.เทพฤทธิ์” กล่าวว่า ตนเรียนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิศวกรรมเครื่องกล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เส้นทางอาชีพในช่วงแรกคือ ทำงานเป็นวิศวกรในบริษัทเอกชน แต่พเมื่อสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ก็ได้มีโอกาสสอนและค้นพบแรงบันดาลใจในการเป็นอาจารย์ เพราะอยากสอนคนที่สนใจวิศวกรรมเครื่องกล โดยเฉพาะระบบสุขาภิบาลและระบบปรับอากาศ ให้มีความเข้าใจถ่องแท้ และมองว่าการสอนเป็นช่องทางที่ทำให้ได้ใช้ความสามารถและประสบการณ์การทำงานด้านวิศวกรรมเครื่องกลในสนามจริงมาต่อยอดด้วยการผลิตคน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จึงได้เป็นอาจารย์มาตั้งแต่ปี 2542 และยังคงทำงานวิศวกรรมกับทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่เรื่อยๆ เช่น ระบบปรับอากาศในสถานีซ่อมบำรุงรถไฟฟ้า และระบบระบายอากาศในห้องปฏิบัติการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบบวิศวกรรมเครื่องกลทั้งหมดในอาคารต้องมีทั้งระบบความปลอดภัย และระบบระบายอากาศ จึงเป็นงานที่ซับซ้อน

“วิศวกรเครื่องกลระบบปรับอากาศและกรองอากาศในอาคาร มีความต้องการสูงมากในปัจจุบันท่ามกลางปัญหาฝุ่น PM2.5 เพราะช่วยสร้างระบบอากาศภายในอาคารที่สะอาดเหมาะสมกับการอยู่อาศัย โดยจากข้อมูลรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทยของกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ ณ วันที่ 4 เมษายน 2566 แสดงผลคุณภาพอากาศของประเทศไทยหลายพื้นที่มี PM2.5 อยู่ในระดับที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะภาคเหนือมีละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอนอยู่ที่ 220 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เพราะจมูกไม่สามารถกรอง PM2.5 ไม่ให้เข้าสู่ร่างกายได้ ทำให้ต้องหาวิธีหลีกเลี่ยงและป้องกัน นอกจากนั้น รายงานของธนาคารโลก (World Bank) ระบุว่า ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศมากถึง 50,000 ราย กระทบต่อระบบเศรษฐกิจ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายที่รัฐต้องสูญเสียเกี่ยวเนื่องกับค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยจากมลพิษทางอากาศ”

“ดร.เทพฤทธิ์” กล่าวต่อไปว่า จุดอ่อนของการศึกษาไทยในอดีตคือ การมุ่งเน้นภาคทฤษฎี จึงทำให้นักศึกษาได้เรียน แต่ไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้งานจริงได้อย่างไร ตนจึงมุ่งพัฒนาการเรียนการสอนที่เน้นการปฏิบัติ โดยจะไม่เริ่มต้นจากการสอนทฤษฎีและการคำนวณ แต่จะนำของจริงมาให้นักศึกษาได้ดู เช่น ระบบปรับอากาศที่เสร็จสมบูรณ์แล้ว เพื่อดึงดูดความสนใจของนักศึกษา ทำให้พวกเขาเริ่มตั้งข้อสงสัยและถามถึงวิธีสร้างระบบเหล่านั้น

“สิ่งที่ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยศรีปทุมมีจุดเด่น คือความสามารถในการใช้ BIM (Building Information Modeling) ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงเทคโนโลยี ข้อมูล และการออกแบบเข้าด้วยกัน ช่วยให้การทำงานเกี่ยวกับวิศวกรรมมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากขึ้น ซึ่ง BIM สามารถสร้างแบบจำลองเสมือน 2 มิติ และ 3 มิติที่แม่นยำ ใช้สำหรับการเขียนแบบ การคำนวณโครงสร้าง รวมไปถึงการวางแผนระบบสุขาภิบาลในอาคารและระบบปรับอากาศ เป็นอาวุธด้านทักษะที่เราติดให้นักศึกษา เพื่อใช้แข่งขันในตลาดแรงงาน นอกจากนั้น ยังมีสหกิจศึกษาที่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยศรีปทุมจะถูกกำหนดขอบข่ายงานที่จะต้องปฏิบัติในสถานประกอบการอย่างชัดเจน โดยนักศึกษาจะมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาหน้างานจริง โดยองค์กรนั้นๆ จะให้ความสำคัญกับนักศึกษาเสมือนเป็นพนักงาน และมีการประเมินผลการปฏิบัติงาน ที่สำคัญการเรียนวิศวกรรมเครื่องกลที่มหาวิทยาลัยศรีปทุมยังปลูกฝังให้นักศึกษามี soft skills ที่จำเป็น ได้แก่ การแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และการทำงานเป็นทีม”

สำหรับคนที่อยากเรียนต่อทางด้านวิศวกรรม ขอให้มีใจรักและความพยายาม มีพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และฟิสิกส์ ซึ่งเรียนได้ทั้งผู้หญิงและผู้ชายขึ้นอยู่กับความชอบ และขอให้มีความตั้งใจ ความมุ่งมั่นและพยายาม ก็สามารถประสบความสำเร็จได้