In Thailand

กาฬสินธุ์อากาศร้อนแล้งเร่งเก็บเกี่ยวข้าวก่อนเจอพายุเสียหาย



กาฬสินธุ์-สภาพอากาศที่จังหวัดกาฬสินธุ์ในฤดูแล้ง ยังปกคลุมไปด้วยความร้อน อุณหภูมิสูง 38-39 องศา ส่งผลกระทบต่อพืชสวน พืชไร่ เริ่มเหี่ยวเฉาและแห้งตาย เนื่องจากขาดแคลนน้ำหล่อเลี้ยง ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้านาปรังเร่งมือเก็บเกี่ยวผลผลิต หวั่นได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน ด้านเกษตรจังหวัดเผยผลผลิตเกษตรกรเกิดความเสียหายบางส่วน แต่ยังไม่มีรายงาน คาดว่าสถานการณ์ดีขึ้นหากมีฝนตกลงมา

วันที่ 26 เมษายน 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการติดตามสภาพอากาศในพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ 18 อำเภอ ในฤดูแล้งซึ่งฝนทิ้งช่วงไปนานกว่า 5 เดือน ทั้งพื้นที่ในเขตชลประทานและนอกเขตชลประทาน พบว่าแหล่งน้ำใต้ดิน และแหล่งน้ำบนดิน เริ่มขาดแคลน ขณะที่พืชสวน พืชไร่ เกิดความเสียหายบางส่วน เนื่องจากไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง นอกจากนี้สัตว์เลี้ยงยังเริ่มผอมโซ เพราะอาหารหลักอย่างหญ้าตามธรรมชาติแห้งเฉาตายไป

นายสันติภาพ โทนหงสา เกษตร จ.กาฬสินธุ์กล่าวว่า จากภาวะฝนทิ้งช่วงกว่า 5 นานเดือนดังกล่าว ประกอบกับแดดจัด อากาศร้อน อุณหภูมิ 38-39 องศา บางวันอุณหภูมิสูงถึง 40 องศา เป็นสาเหตุหนึ่งทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ขณะที่แหล่งน้ำตามธรรมชาติ รวมทั้งแหล่งน้ำที่เกษตรกรขุดไว้เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งก็แห้งขอด  ไม่เพียงพอต่อการหล่อเลี้ยง จึงพบว่าพืชผลทางการเกษตรหลายชนิด เช่น ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ได้รับผลกระทบบางส่วน ทั้งนี้ ได้รับข้อมูลจากการประชุมเวทีต่างๆ แต่ยังไม่มีรายงานเป็นลายลักษณ์อักษรเข้ามา ขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ซึ่งมีน้ำเพียงพอก็เร่งเก็บเกี่ยวผลผลิต ตามรอบอายุการเก็บเกี่ยวและต้องเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ ก่อนที่จะได้รับความเสียหายจากพายุฤดูร้อน

นายสันติภาพกล่าวอีกว่า พื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นแหล่งผลิตอาหาร “กรีนมาร์เก็ต” เน้นเกษตรอินทรีย์ อาหารปลอดภัย สำนักงานเกษตร จ.กาฬสินธุ์ จึงได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เกษตรทุกอำเภอ มอบหมายเกษตรตำบลลงพื้นที่สำรวจ และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ตาม จากการประเมินสถานการณ์ทุกอำเภอ ตั้งแต่หลังสิ้นฤดูฝนปีที่ผ่านมา  พบว่าเกษตรกรได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการเพาะปลูกพืช ตามปริมาณน้ำที่มีอยู่ เช่น ลดพื้นที่เพาะปลูก ปลูกพืชอายุสั้น ใช้น้ำน้อย พอประสบภาวะฝนทิ้งช่วงดังกล่าว จึงไม่รับผลกระทบมากนัก  ประกอบกับเมื่อ  2 วันที่ผ่านมามีฝนตกลงมาในพื้นที่ จึงพอที่จะสร้างความชุ่มชื่นให้พื้นผิวดินและหล่อเลี้ยงพืชผลได้บ้าง คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้นหากมีฝนตกลงมา ทั้งนี้ จ.กาฬสินธุ์ ยังไม่มีการประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ง