In Bangkok

กทม.เฝ้าระวังผลกระทบจากเหตุไฟไหม้ บ่อขยะที่อยุธยาเตรียมมาตรการป้องกัน



กรุงเทพฯ-นายประพาส เหลืองศิรินภา ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (สสล.) กทม.กล่าวว่า จากกรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้บ่อขยะขนาดใหญ่ภายในศูนย์จัดการขยะมูลฝอย อบจ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา สสล.ได้ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่องทุกวัน ผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 26 เม.ย.66 เวลา 14.00 น. คุณภาพอากาศโดยรวมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานทุกพารามิเตอร์ และมีระดับคุณภาพอากาศดีมากถึงปานกลางในทุกพื้นที่ที่มีการตรวจวัด โดยค่าฝุ่นละออง PM2.5 ตรวจวัดได้ 16 - 38 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) (มาตรฐานไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) ค่าฝุ่นละออง PM10 ตรวจวัดได้ 33 - 77 มคก./ลบ.ม. (มาตรฐานไม่เกิน 120 มคก./ลบ.ม.) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ : CO ตรวจวัดได้ 0.56 - 1.78 ppm (มาตรฐานไม่เกิน 30 ppm) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ : NO2 ตรวจวัดได้ 12 - 54 ppb (มาตรฐานไม่เกิน 100 ppb) 

อย่างไรก็ตาม สสล.ได้บูรณาการข้อมูลร่วมกับกรมควบคุมมลพิษในการรายงานและแจ้งเตือนสถานการณ์คุณภาพอากาศ พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบทุกวันผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและลดความห่วงกังวลของประชาชน รวมถึงประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตรวจสอบข้อมูลฝุ่นละอองก่อนออกจากบ้านแบบเรียลไทม์ เพื่อวางแผนการทำงาน หรือการทำกิจกรรม หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีปริมาณค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานและมีแนวโน้มเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ลดระยะเวลา หรืองดการทำกิจกรรมกลางแจ้ง เพื่อป้องกันผลกระทบทางสุขภาพ ผ่านช่องทางต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.airbkk.comwww.pr-bangkok.com เพจเฟซบุ๊ก : กรุงเทพมหานคร, กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร และสำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร แอปพลิเคชัน : AirBKK LINE ALERT และ LINE OA : @airbangkok รวมถึงจอแสดงผลบริเวณสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศในสวนสาธารณะ หากประชาชนพบเห็นแหล่งกำเนิดมลพิษสามารถแจ้งเบาะแสผ่านทาง Traffy Fondue

นอกจากนี้ ยังได้เตรียมความพร้อมป้องกันเหตุเพลิงไหม้บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.รวมทั้งสถานที่กำจัดขยะและสถานที่แปรรูปเชื้อเพลิงขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ โดย สสล.ได้จัดประชุมเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์กำจัดมูลฝอยทุกแห่งและเจ้าหน้าที่บริษัทที่เป็นคู่สัญญากับ กทม.เพื่อวางแผนเตรียมความพร้อมป้องกันการเกิดเหตุให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามแผนระงับอัคคีภัยที่กำหนดได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงตรวจสอบเครื่องมือ อุปกรณ์ดับเพลิงให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้ดีอยู่เสมอ และฝึกซ้อมแผนป้องกันและระงับอัคคีภัยเป็นประจำทุกปี

นายสุนทร สุนทรชาติ ผู้อำนวยการสำนักอนามัย (สนอ.) กทม.กล่าวว่า สนอ.ได้ประสานสำนักสิ่งแวดล้อมให้เข้มงวดการดำเนินมาตรการป้องกันเหตุเพลิงไหม้ในพื้นที่ศูนย์กำจัดขยะของ กทม.ทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยหนองแขม ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยอ่อนนุช ศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยสายไหม และสถานที่ฝังกลบมูลฝอยของ กทม.ทั้ง 2 แห่ง ซึ่งตั้งอยู่ที่ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม และ อ.พนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา รวมทั้งโรงงานเตาเผามูลฝอยและโรงงานเตาเผาขยะติดเชื้อที่รับผิดชอบโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดังนี้ (1) จัดหน่วยเฝ้าระวังตรวจตราป้องกันการเกิดเพลิงไหม้สถานที่ดังกล่าวและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมทั้งเตรียมพร้อมอุปกรณ์สำหรับการดับเพลิง การฝึกซ้อมดับเพลิงและการอพยพหนีไฟตามแผนฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง (2) ให้คำแนะนำกับผู้ดำเนินการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.เรื่องการจัดการด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการและการจัดทำแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเพลิงไหม้ หรือสารเคมีและวัตถุอันตรายรั่วไหล (3) เตรียมความพร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวัดความเข้มข้นของมลพิษในบรรยากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนที่พักอาศัยบริเวณโดยรอบพื้นที่เกิดเหตุ (5) กรณีเกิดเหตุเพลิงไหม้ ศูนย์บริการสาธารณสุข สนอ.ร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่จะดูแลสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยให้คำแนะนำการป้องกันตนเอง แจกหน้ากากอนามัย การอพยพเคลื่อนย้ายประชาชนกรณีคุณภาพอากาศเลวร้าย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ขณะเดียวกันได้จัดอบรมให้ความรู้บุคลากร กทม.เกี่ยวกับแผนป้องกันและบรรเทาภัยด้านสารเคมีและวัตถุอันตราย (ระดับประเทศและระดับกรุงเทพมหานคร) ฝึกซ้อมเขียนแผนฯ และฝึกซ้อมแผนตามบทบาทหน้าที่ของหน่วยงาน จัดทำสื่อประชาสัมพันธ์แนวทางปฏิบัติเมื่อเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตราย สำหรับประชาชน โดยเผยแพร่ผ่านสื่อออนไลน์ รวมถึงจัดเตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ เพื่อตรวจวัดความเข้มข้นของสารเคมีในบรรยากาศที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน                            

ส่วนการเตรียมความพร้อมป้องกันเหตุเพลิงไหม้บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.สถานที่กำจัดขยะและสถานที่แปรรูปเชื้อเพลิงขยะในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ สนอ.ได้ให้คำแนะนำผู้ดำเนินการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.เรื่องการจัดการด้านสารเคมีและวัตถุอันตรายในสถานประกอบการและการจัดทำแผนตอบโต้เหตุฉุกเฉิน กรณีเกิดเพลิงไหม้ หรือสารเคมีและวัตถุอันตรายรั่วไหล พร้อมทั้งให้ฝึกซ้อมตามแผนฯ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

นายธีรยุทธ ภูมิภักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (สปภ.) กทม.กล่าวว่า สปภ. ได้เตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่ดับเพลิงและกู้ภัย รถดับเพลิง รถบรรทุกน้ำ เครื่องมือเครื่องใช้ในการดับเพลิงและกู้ภัย เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้บริเวณศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยของ กทม.รวมทั้งสถานที่กำจัดขยะสถานที่แปรรูปเชื้อเพลิงขยะ (RDF) ทุกขนาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุเพลิงไหม้ พร้อมทั้งกำชับให้สถานีดับเพลิงและกู้ภัยทุกแห่งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมความรู้ให้ประชาชนเกิดความตระหนักและมีส่วนร่วมป้องกันเหตุอัคคีภัยที่อาจเกิดขึ้นในบ้านเรือนและพื้นที่บริเวณโดยรอบชุมชนของตนเอง ตลอดจนเร่งรัดดับเพลิงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ หากประชาชนพบเห็นเหตุเพลิงไหม้ หรือเหตุสาธารณภัยอื่น ๆ สามารถแจ้งเหตุผ่านสายด่วน 199 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง