In News
กทม.รับฟังความคิดเห็นทำโรงไฟฟ้าขยะ
กรุงเทพฯ-รองผู้ว่าฯโสภณ เปิดเวทีรับฟังความเห็นโครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า
(9 มี.ค.64) เวลา 09.00 น. พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานประชุมรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย โครงการกำจัดมูลฝอยด้วยวิธีการเผาไหม้ เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้า ศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช โดยมี ดร.วัลลภ สุวรรณดี ประธานที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชยาวุธ ศิริยุทธ์วัฒนาประธานคณะกรรมการการรักษาความสะอาดและสิ่งแวดล้อมสภากรุงเทพมหานคร พล.ต.ท.ธีระศักดิ์ ง่วนบรรจง สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร นายนพดล พฤกษะวัน กรรมการผู้จัดการ บริษัทนิวสกาย เอ็นเนอร์จี (แบงค๊อก) จำกัด สำนักสิ่งแวดล้อม ผู้แทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ร่วมประชุม ณ ห้อง G203 ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เขตบางนา
เนื่องจากพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 กำหนดให้การดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ หากโครงการหรือกิจการใดที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อ ทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียสำคัญอื่นของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อม อย่างรุนแรง ต้องดำเนินการให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาดำเนินการหรือ อนุญาตตามกฎหมาย และปัจจุบันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศเมื่อ 4 ม.ค.62 เรื่อง กำหนดโครงการ กิจการ หรือการดำเนินการ ซึ่งต้องจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามเอกสารท้ายประกาศ 4 ลำดับ 18 กำหนดไว้ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งต้องไม่ใช่โครงการโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่พื้นที่ดังต่อไปนี้
1. พื้นที่ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกําหนดให้เป็นพื้นที่ชั้น คุณภาพลุ่มน้ำชั้น 1 และชั้น 2 2. พื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวง ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 3. พื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมตามมติของคณะรัฐมนตรี 4. พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ และ 5. พื้นที่ซึ่งมีระดับสารมลพิษทางอากาศสูงเกินกว่าร้อยละ 80 ของค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศ โดยทั่วไป ซึ่งโครงการเตาเผามูลฝอยขนาดไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวันของกรุงเทพมหานคร ไม่ได้อยู่ในพื้นที่ห้ามดำเนินการตามประกาศของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แม้ว่าโครงการเตาเผามูลฝอยไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน ไม่ต้องจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่โครงการต้องดำเนินการตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการ พลังงาน เรื่อง มาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบ สิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่มีกำลังผลิตติดตั้ง ตั้งแต่ 10 เมกะวัตต์ขึ้นไป พ.ศ.2559 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2561 โดยจะต้องดำเนินการจัดทำผลการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามประมวลหลักการปฏิบัติ (COP) ในการจัดทำมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม กำหนดให้ผู้ประกอบการโครงการไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงจะต้องนำมาตรการด้านต่างๆ ที่ระบุในประมวลหลักการปฏิบัติ COP สำหรับโครงการที่เข้าข่ายได้รับการยกเว้นไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมฉบับนี้มากำหนดเป็นมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมและสอดคล้องกับลักษณะโครงการและสภาพพื้นที่ดำเนินโครงการ
ทั้งนี้ ในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน กำหนดให้ผู้ประกอบการโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ขยะมูลฝอยเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ COP ฉบับนี้จะต้องดำเนินการด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการรับฟังความเห็นและทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย ในการพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า พ.ศ.2559 หรือตามที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประกาศกำหนด เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ตลอดจนหน่วยงานที่เป็นกลาง เช่น หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษา และผู้เกี่ยวข้องกับโครงการเข้ามามีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการดำเนินโครงการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการเพื่อให้เกิด ความรู้ความเข้าใจและลดความวิตกกังวล รวมทั้งจะต้องรวบรวมประเด็นข้อคิดเห็นและข้อห่วงใยที่ได้จาก กระบวนการรับฟังความคิดเห็นมาพิจารณากำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่มเติมให้เหมาะสมกับลักษณะโครงการและสภาพที่ตั้งโครงการ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลผลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่ได้ดำเนินการมาทั้งหมดไว้ในรายงานด้วย
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร มีขยะจากครัวเรือน ร้านอาหาร สถานประกอบการต่างๆ ขยะจากภาคการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรมที่กรุงเทพมหานครรวบรวมไปกำจัดวันละ 10,500 ตัน การกำจัดขยะดังกล่าวแบ่งเป็นวิธี ดังนี้ 1. ฝังกลบ 7,600 ตัน 2. ทำปุ๋ยอินทรีย์ 1,600 ตัน 3. หมักให้เกิดแก๊สผลิตไฟฟ้า 800 ตัน และ 4. เผาไหม้เพื่อผลิตไฟฟ้า 500 ตัน และคาดว่าในอีก 5 ปี กรุงเทพมหานคร จะมีขยะวันละ 13,000 - 14,000 ตัน สำหรับการฝังกลบเป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ยั่งยืนเพราะทำให้พื้นที่เหลือน้อยลง รวมทั้งเป็นเพียงการย้ายขยะไปไว้ชานเมืองซึ่งจะสร้างความกังวลให้ประชาชนในพื้นที่ ส่วนการกำจัดด้วยวิธีเผาไหม้ โดยทั่วไปมักก่อให้เกิดควัน ฝุ่น กลิ่น ซึ่งหากไม่มีเทคโนโลยีมาแก้ไขปัญหา จะยังไม่ถือว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีของเตาเผาไหม้ มีการพัฒนาไปมาก สามารถแก้ปัญหาควัน ฝุ่น กลิ่นได้จนอยู่ในระดับมาตรฐานความปลอดภัย สำหรับการจัดประชุมในวันนี้ เพื่อให้ประชาขนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสรับทราบข้อมูล แนวทางวิธีการกำจัดขยะด้วยวิธีการเผาไหม้ ซึ่งช่วยลดขยะได้อย่างมีประสิทธิภาพและยังสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ประโยชน์ได้อีก ขอให้ผู้เข้าร่วมประชุมได้ใช้โอกาสนี้สอบถามหรือแสดงความคิดเห็น เพื่อให้มั่นใจได้ว่าโครงการจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชน สังคมอย่างแท้จริง