In News
ศาลยธ.แจงปล่อยตัวแกนนำคณะราษฏร์
กรุงเทพฯ-โฆษกศาลยุติธรรม อธิบายศาลอาญาพิจารณาคำร้องขอประกัน 3 แกนนำคณะราษฎรฯ เสร็จในทุกขั้นตอน นัดทนายดูหลักฐาน ยืนยันทำตามขั้นตอนกฎหมาย คุ้มครองสิทธิจำเลย
ภายหลังจากที่มีการนำเสนอข่าวทนายความให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการพิจารณาไม่ให้ประกันตัว 3 แกนนำคณะราษฎร 2563 ทำนองว่า ขณะทำเรื่องประกันตัวซึ่งกระบวนการยื่นประกันยังไม่เสร็จสิ้น ยังมีเวลาอยู่ แต่ทางราชทัณฑ์ได้นำตัว น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, นายภาณุพงศ์ จาดนอก, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา จำเลย ขึ้นรถไปควบคุมยังเรือนจำ เมื่อวานที่ผ่านมา (8 มี.ค.) ซึ่งกรณีดังกล่าวเกี่ยวข้องกับกระบวนการพิจารณาในศาลอาญาที่อาจสร้างความเข้าใจผิดหรือเกิดความคลาดเคลื่อนสงสัยในกระบวนการยุติธรรมนั้น
เมื่อวันที่ 9 มี.ค.64 นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรมได้อธิบายถึงขั้นตอนการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวและการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวคดีกลุ่ม 18 แกนนำและแนวร่วมคณะราษฎร 2563 ว่า โดยหลักปฏิบัติ (ทุกคดี) เมื่ออัยการนำตัวจำเลยมายื่นฟ้องต่อศาลแล้ว หากศาลมีคำสั่งประทับฟ้อง จะสั่งต่อไปด้วยว่า ให้หมายขัง เว้นแต่จะมีประกัน ซึ่งหมายความว่า เมื่อศาลรับฟ้องแล้ว ให้เจ้าหน้าที่ออกหมายขังจำเลยไว้ระหว่างพิจารณา หากมีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว และศาลพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ศาลก็จะออกหมายปล่อยต่อไป โดยผู้ที่มีอำนาจหน้าที่บังคับตามหมายคือราชทัณฑ์ ซึ่งการบริหารจัดการในแง่ของการนำตัวจำเลยไปควบคุมตัวนั้นก็จะเป็นหน้าที่ของราชทัณฑ์ว่าจะนำตัวไปเมื่อใดอย่างไร
สำหรับการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ตามกฎหมายคนที่มีสิทธิยื่นคือ ผู้ต้องหา (กรณีอยู่ระหว่างการสอบสวน), จำเลย (กรณีศาลประทับฟ้องแล้ว) และผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง
โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำว่า สำหรับกรณีที่เกิดขึ้นในขั้นตอนขอปล่อยชั่วคราวเมื่อวานดังกล่าว เป็นการยื่นโดยผู้มีประโยชน์เกี่ยวข้อง ไม่ใช่จำเลย เมื่อได้รับคำร้องแล้วเจ้าหน้าที่ก็นำไปลงระบบในช่วงเวลา 13.00 น.เศษ จากนั้นรีบนำเสนอผู้พิพากษาที่มีหน้าที่พิจารณาคำร้องโดยเร็ว การทำงานของศาลอาญาขั้นตอนใดที่กฎหมายไม่ได้บังคับศาลก็พยายามจะทำให้สั้นและกระชับที่สุดเท่าที่ทำได้เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนให้เป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด เมื่อผู้พิพากษาพิจารณาคำร้องเสร็จแล้วจึงไปถึงขั้นตอนการแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องขอทราบต่อไป ส่วนราชทัณฑ์ซึ่งมีหน้าที่บังคับตามหมายขังก็จะต้องดำเนินการนำตัวจำเลยไปควบคุมที่เรือนจำต่อไป ขอยืนยันว่าแม้ราชทัณฑ์จะมีอำนาจปฏิบัติตามหมายขังระหว่างพิจารณาได้โดยไม่ต้องรอคำสั่งในเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวานนี้ศาลได้พิจารณาและมีคำสั่งในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ราชทัณฑ์จึงมีการนำตัวจำเลยไป อีกทั้งในวันนี้ทางศาลอาญาได้เชิญทนายจำเลยมาอธิบายถึงขั้นตอนและข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจนเป็นที่เข้าใจแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดขอยืนยันว่าศาลปฏิบัติกับคู่ความทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการปฏิบัติที่แตกต่างกันแต่อย่างใดๆ
/